svasdssvasds

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย มีผลบังคับใช้แล้ว ! เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย มีผลบังคับใช้แล้ว ! เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

มีผลบังคับใช้แล้ว ! สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษด้านภาษี หลังการเจรจาไม่มีความคืบหน้า ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน สินค้าไทย 573 รายการ ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ต้องเสียภาษีโดยเฉลี่ย 4.5 %

การตัดสิทธิ GSP ไทย มีผลแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นนี้เคยเป็นข่าวโด่งดัง ตั้งแต่สหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562

โดยไทยมีระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ที่จะทำการเจรจา ร่วมถึงปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ เพื่อให้ได้รับสิทธิ GSP กลับคืน

และในวันนี้ วันที่ประเทศไทยต้องสูญเสียสิทธิด้านนี้ไปแล้ว เราลองมาดูกันซิว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น จะมากหรือน้อยในระดับใด

GSP คืออะไร ?

ก่อนจะไปยังเรื่องผลกระทบ เรามาทบทวนทำความรู้จัก GSP กันสักหน่อย โดย GSP ย่อมาจาก General of System of Preferences

หมายถึง สิทธิพิเศษทางภาษี ที่ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่นฯ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ ให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา ที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organisation (WTO)

โดยประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ เมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย มีผลบังคับใช้แล้ว ! เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

ตัวอย่าง ปูแปรรูป ในวันได้สิทธิ กับวันนี้ที่ไร้สิทธิ

เพื่อให้เห็นภาพชัดชัด จึงขอยกตัวอย่างสินค้าที่เคยได้สิทธิ GSP เช่น ปูแปรรูป จากที่ก่อนหน้านี้ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า และสหรัฐฯ เป็นตลาดที่สำคัญอันดับต้นๆ ของไทย

แต่หลังจากวันที่ 25 เมษายน เมื่อการตัดสิทธิ GSP มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการไทยก็ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ 5 % หากส่งสินค้าเข้าไปขายในประเทศสหรัฐฯ

สิ่งที่ตามมา

จากกรณีปูแปรรูป เมื่อต้องเสียภาษีนำเข้าให้กับสหรัฐฯ ในอัตราปกติ ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องขึ้นราคา

แต่ปูแปรรูป เป็นสินค้าที่สามารถหาทดแทนกันได้ และมีผู้ส่งออกในตลาดหลายราย โดยไทยมีประเทศคู่แข่งสำคัญคือ อินโดนีเซีย กับฟิลิปปินส์ ที่ยังได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ อยู่ ทำให้ผู้ประกอบการไทย ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบในตลาดนี้ทันที

ผลประโยชน์ที่ต้องสูญเสีย

สินค้าที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP รวมทั้งสิ้น 573 รายการ หากคำนวณแบบถัวเฉลี่ยในภาพรวม อัตราการเสียภาษีจาก 0 % ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 % ในแต่ละรายการ

แต่หากดูแบบแยกย่อย บางรายการก็มีอัตราภาษีที่สูงมาก อาทิ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิก มีอัตราภาษีถึง 26 %

โดยมูลค่ารวมของสินค้าทั้งหมดที่ส่งไปขายในสหรัฐ อยู่ที่ 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ยังได้รับสิทธิ GSP มีมูลค่ารวม 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP มีมูลค่ารวม 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

มูลค่าสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับ 4.1 % ที่ส่งเข้าไปขายในสหรัฐฯ และคิดเป็น 0.5 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

ซึ่งก่อนถูกประกาศตัดสิทธิดังกล่าว ไทยเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า GSP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง จากสหรัฐฯ ในจำนวนทั้งหมดกว่าร้อยประเทศ

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย มีผลบังคับใช้แล้ว ! เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย เพราะปัญหาสิทธิแรงงาน จริงหรือ ?

สหรัฐฯ ได้กำหนดคุณสมบัติประเทศที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ GSP ไว้ดังนี้

1. รายได้ประชาชาติต่อหัว ไม่เกิน 12,055 เหรียญสหรัฐ

2. ต้องมีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล

3. มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีประสิทธิภาพ

4. มีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

5. กำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน และลดข้อจำกัดทางการค้าของประเทศที่ได้รับสิทธิ

6. ให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย

ซึ่งสหรัฐฯ ใช้คุณสมบัติข้อที่ 4 เป็นข้ออ้างในการตัดสิทธิ GSP ไทย โดยให้เหตุผลว่า ไทยไม่รับรองสิทธิแรงงานต่างด้าวให้เป็นตามมาตรฐานสากล

แต่บางส่วนก็วิเคราะห์ว่า อาจสืบเนื่องมาจากมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 22 ตุลาคม 2562 แบนยาฆ่าหญ้าอย่าง พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ที่ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตในสหรัฐฯ สูญเสียรายได้มหาศาล

หรือกรณีสภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติของสหรัฐฯ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ให้พิจารณาทบทวนสิทธิ GSP จากกรณีที่ไทยห้ามนำเข้าเนื้อสุกรของสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากมีสารเร่งเนื้อแดง

รวมถึงกรณีที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้าให้ไทยติดต่อกันหลายปี โดยข้อมูลระหว่างปี 2558 - 2562 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐ เฉลี่ยปีละกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จึงทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า เหตุผลจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องธุรกิจที่สหรัฐฯ สูญเสียผลประโยชน์ จากนโยบายของรัฐบาลไทย โดยนำปัญหาแรงงานมาเป็นข้ออ้างเพื่อต่อรอง หากไม่ได้รับการสนอง การตัดสิทธิ GSP ไทย ก็ดูดีมีความชอบธรรม

แอ็คชั่นของทางการไทย

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามตัดสิทธิ GSP ไทย โดยจะมีผลวันที่ 25 เมษายน 2563 ก็กลายเป็นข่าวโด่งดัง

แม้จะสร้างความกังวลให้กับชาวไทยเป็นอย่างมาก แต่ก็มีความหวังว่าภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนที่คำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ไทยน่าจะสามารถเจรจาให้สหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีได้

แต่แล้วเมื่อครบกำหนด การตัดสิทธิ GSP มีผลบังคับใช้ ทำให้หลายคนเกิดความงุนงงว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?”

ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 เดือนมานี้ เราแทบไม่ได้ข่าวคราวเกี่ยวกับแอคชั่นของทางการไทย จนหลายคนเกือบลืมเรื่องนี้ไปแล้ว มารู้ตัวอีกที “อ้าว ถูกตัดสิทธิแล้วนี่หว่า”

และแม้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะยืนยันในเวลาต่อมาว่า ได้มีการเจรจากับทางสหรัฐฯ หลายวาระ

รวมถึงความพยายามครั้งล่าสุด เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เซ็นลงนามในหนังสือ ส่งถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR)

เพื่อขอให้พิจารณาเลื่อนการตัดสิทธิ GSP ไทยออกไป เนื่องจากทั้งสองฝ่ายกำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย มีผลบังคับใช้แล้ว ! เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

ผลกระทบนับจากนี้

แม้ข้อมูลจากทางการไทยจะออกมาในทำนองว่า การที่ไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการหลายราย ซึ่งอยู่ในบัญชี 573 รายการ ต้องเสียเปรียบด้านการแข่งขันในสหรัฐทันที

แม้ว่าบางรายการมีอัตราภาษีนำเข้าไม่มากนัก แต่บางรายการก็สูงลิ่ว จนจินตนาการไม่ออกว่า ด้วยภาระที่เพิ่มขึ้นนี้ จะไปสู้คู่แข่งในสินค้าประเภทเดียวกันที่ยังได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ อย่างไรไหว

และแน่นอนว่า ตัวเลขการได้ดุลการค้าสหรัฐฯ อย่างเป็นกอบเป็นกำในระดับเฉียดหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ที่ติดต่อกันมาหลายปี คงยากที่จะเห็นได้อีก

บวกกับวิกฤตโควิด-19 ที่โหมกระหน่ำตั้งแต่ต้นปี ก็ล้วนเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจของไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างจัง

ในวันนี้ วันที่เรามาถึงจุดนี้แล้ว ที่ถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP อย่างมีผลบังคับใช้ ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นอะไรก็ตามที แต่ก็ถือว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ

ในการแก้ปัญหาต่างๆ อาจมีที่แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง คละเคล้ากัน แต่สำหรับเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่ส่งผลกระทบในระดับมหาศาลอย่างกรณีนี้ หากที่ผ่านมามีแอ๊คชั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ออกมาให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าเป็นระยะ แม้บทสรุปจะไม่สมหวัง แต่อย่างน้อยๆ ก็อาจสร้างความประทับใจ ความเชื่อมั่น ได้มากกว่า...ที่หลายๆ คนกำลังรู้สึกอยู่ในเวลานี้

 

อ้างอิง

http://www.dft.go.th/th-th/DFT-Service/ServiceData-Information/dft-service-data-privilege/Detail-dft-service-data-privilege/ArticleId/5010/5010

http://www.dft.go.th/th-th/NewsList/News-DFT/Description-News-DFT/ArticleId/13870/13870

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/852738

https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/431601

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

ภาพโดย Tibor Janosi Mozes จาก Pixabay

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

related