svasdssvasds

ซัพพลายเชน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังโควิด 19 จากโลกาภิวัตน์สู่ภูมิภาค

ซัพพลายเชน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังโควิด 19 จากโลกาภิวัตน์สู่ภูมิภาค

การล็อกดาวน์และหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบ ซัพพลายเชน ทั่วโลก เผยให้เห็นจุดอ่อนของโลกาภิวัตน์ ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า จะกลายเป็นระดับภูมิภาคหลังโควิด 19

รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจจากนิตยาสาร The Economist คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงในระบบ ซัพพลายเชน ของโลกหลังโควิด 19 ที่เปลี่ยนวิถีการค้า เร่งแนวโน้มสู่การเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชน การผลิตที่ “ทันต่อเวลา” จากซัพพลายเออร์ทั่วโลก จะเสียพื้นที่ให้กับการใช้ซัพพลายในภูมิภาคมากขึ้น การต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์คงคลัง และการประเมินความเสี่ยงใหม่กับการบริหารงานแบบ C-Suite คือมีคณะผู้บริหาร

โควิด 19 กับ ซัพพลายเชน ของโลก

ความท้าทายเรื่องสถานที่ผลิต ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกพึ่งพาจีนมาก จีนมีส่วนแบ่งในตลาดการค้าเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่นในตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมที่จีนมีส่วนแบ่งถึง 59 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018

ความสำคัญของจีนในการค้าและซัพพลายเชนของโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทนานาประเทศรีบฉวยโอกาสจากข้อเสนอรัฐบาลจีน ทั้งด้านการผลิต และทั้งด้านเป็นอุปสงค์ของตลาด

แต่ผลของโควิด 19 ดูเหมือนว่าไม่ใช่จะหยุดแค่พลังโลกาภิวัตน์ของจีน แต่อาจจะกลายเป็นย้อนกลับไปทิศทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการขึ้นค่าแรงในจีน กลายเป็นเหตุผลที่หลายบริษัทนานาชาติเริ่มถอยห่างจากจีนไปส่วนอื่นในเอเชีย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นก่อนอุตสาหกรรมอื่นคือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ โควิด 19 จะเป็นตัวผลักให้บริษัทในภาคส่วนอื่นย้ายบางส่วนของซัพพลายเชน

ผลที่ได้คือ จะกลายเป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานเอเชีย ที่พึ่งพาจีนน้อยลง และมีความหลากหลายมากขึ้น

ห่วงโซ่อุปทานเป็นเรื่องซับซ้อนในการจัดตั้ง และยิ่งยากขึ้นไปอีกเมื่อต้องย้าย โดยเฉพาะภาคยานยนต์ แต่ขณะที่มีบริษัทกำลังพิจารณาย้ายมากขึ้น การเปลี่ยนไปเป็นระดับภูมิภาคจะทำให้มีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่าในช่วงวิกฤต

การปรับเรื่องการขนส่งและการเก็บรักษาให้ได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อลดความเสี่ยง

หนึ่งในเหตุผลหลักที่นานาชาติตัดสินใจจะใช้ซัพพลายเชนแบบโลกาภิวัตน์หรือจะใช้ระดับภูมิภาค คือจังหวะเวลาในการผลิตและการประกอบสินค้าในซัพพลายเชน และการจัดเก็บ และเพื่อให้มีประสิทธิภาพ บริษัทต่างๆ มักเลือกที่จะปรับโลจิสติกหรือกระบวนการขนส่งให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ

แต่ในโลกที่ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การพึ่งพาการขนส่งจะทำให้บริษัทต่างๆ มีสินค้าคงคลังน้อยมาก หรืออาจขาดสต็อกเลยก็ได้

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตตอนนี้ ภาคเอกชนเริ่มเห็นคุณค่าของการจัดเก็บสินค้าในสถานที่ที่ตั้งมีความสำคัญทางกลยุทธ ที่ที่จะเข้าถึงได้ง่ายและจัดส่งไปถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

การจัดการสินค้าในสต็อกอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บางบริษัทสามารถเผชิญกับโควิด 19 ได้ดีกว่าบริษัทอื่นๆ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง และคนส่วนใหญ่อาจเริ่มลืมวิกฤตนี้ บางบริษัทก็อาจหย่อนยานเรื่องกลยุทธจัดเก็บสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ

นานาชาติสามารถรับมือได้อย่างไร

1. วางแผนรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความ “น่ากลัว” มากขึ้นเรื่อยๆ การค้าโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นมาหลายปีแล้ว เราเริ่มเห็นบริษัทต่างๆ วางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ

การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้หลายโรงงานต้องปิดทำการชั่วคราว และทำให้ ซัพพลายเชน ในหลายภาคส่วนต้องสะดุด แต่ปัญหาจริงๆ ไม่ใช่แค่ต้องกังวลกับเรื่องซัพพลาย หน่วยวิเคราะห์ของ The Economist ระบุว่า ผลผลิตของเศรษฐกิจโลกจะดิ่งลงมากกว่าเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 การฟื้นฟูจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะความต้องการสินค้าและบริการหดตัวลงในปีนี้

บริษัทต่างๆ จึงต้องเผชิญกับความท้าทายที่โถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน ทั้งเรื่องซัพพลาย และเรื่องความต้องการผู้บริโภค เทกนิกการวางแผนจะเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้บริษัทนั้นๆ จำกัดผลกระทบ

2. เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล บริษัทต่างๆ กำลังปรับโมเดลธุรกิจ เพราะทั้งเป็นโอกาสเหมาะ และเป็นความจำเป็น ยกตัวอย่างบริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เราเห็นต้องปิดชั่วคราวไปทั่วโลก ได้หันไปโฟกัสที่ร้านออนไลน์เพื่อพยายามเพิ่มยอดขายแทน หรือยกตัวอย่างร้านอาหารต่างๆ ที่ไม่สามารถเปิดแบบปกติได้ในหลายประเทศ ร้านมากมายได้ขยายบริการส่งตามบ้าน เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

การเพิ่มความสามารถออนไลน์จะทำให้บริษัทต่างๆ เข้าใจลูกค้าตัวเองมากขึ้น เพราะต้องหาช่องทางที่จะเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้า พฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้น่าจะกลายเป็นสิ่งที่อยู่ไปอีกนาน ดังนั้น บริษัทต่างๆ ควรพัฒนาแผนงานอีคอมเมิร์ซ และหาหนทางที่จะจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เช่นเดียวกันกับบริษัทผู้ผลิตข้ามชาติ จะต้องเพิ่มการใช้ข้อมูลในขบวนการผลิต ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนสู่ดิจิทัล เราน่าจะได้เห็นบริษัทต่างๆ พยายามลดการพึ่งพาการทำเอกสาร และสร้างซัพพลายเชนที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นี่ก็คืออีกความท้าทาย เพราะระบบปฏิบัติการในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน และการควบคุมชายแดนทุกที่ในปัจจุบัน ต่างพึ่งพางานเอกสารเป็นหลัก

การพยายามโน้มน้าวซัพพลายเออร์ตลอดทั้งสายการผลิตให้จัดส่งข้อมูลจะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากกับกระบวนการดิจิทัล เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดเจน แต่นั่นก็จะทำให้ความกังวลในประเด็นความเป็นส่วนตัวและการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

3. จาก “ยุทธวิธี” สู่ยุทธศาสตร์ การตัดสินใจที่จะโฟกัสไปที่การเชื่อมต่อออนไลน์เป็นการตอบสนองทางยุทธวิธีต่อโควิด 19 อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เตรียมตัวมาดีคือบริษัทที่มีการวางแผนยุทธศาสตร์รับมือ

ความปรกติใหม่ (new normal) ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤต บริบทออนไลน์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นจะเปิดโอกาสให้หลายบริษัทเข้าถึงลูกค้าที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสสำหรับภาคการผลิตและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะเข้าร่วมกับซัพพลายเชนระดับภูมิภาคด้วยบทบาทสำคัญ ที่จะเป็นตัวปรับโครงสร้างเครือข่ายโลก ทั้งกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางด้วย

บริษัทต่างๆ ยังต้องคิดยุทธศาสตร์รูปแบบราคา ที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง ทั้งการเปลี่ยนซัพพลายเชนสู่ระดับภูมิภาค และวางแผนการกักเก็บสินค้าที่จะมีส่วนกับราคา ซัพพลายเชนที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันจะทำให้ธุรกิจโฟกัสที่ความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่มากขึ้น และก็จะทำให้มีความสามารถในการสร้างความแตกต่างให้สินค้ามากขึ้น

4. ทำให้การจัดการความเสี่ยงเป็นส่วนหลักของธุรกิจ หนึ่งในผลกระทบจากโควิด 19 ที่จะอยู่ไปอีกนานคือการกลับมามองความเสี่ยงของกระบวนการที่ต้องพึ่งพาหลายประเทศในซัพพลายเชน แต่ไม่ว่าจะเป็นการนำซัพพลายเชนกลับสู่ระดับภูมิภาค หรือจัดหน่วยงานบริหารความเสี่ยงอย่างจริงจังให้กับธุรกิจ ก็อาจจะไม่ได้เห็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมทันที

เวลาผ่านไป เมื่อผ่านจุดที่หนักที่สุดของสถานการณ์ระบาด ความต้องการที่จะลงทุนในการจัดการความเสี่ยงอาจลดลง และกลับไปโฟกัสที่การเติบโตของธุรกิจแทน แต่รายงานวิเคราะห์ระบุว่าการให้ความสนใจเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่น้อยเกินไปนั้นเป็นความผิดพลาด เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า เศรษฐกิจโลกก็อยู่ในภาวะที่ไม่เสถียรตั้งแต่ก่อนโรคระบาด

การจัดการความเสี่ยง

ภูมิรัฐศาสตร์ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นที่ครอบคลุมเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่ให้เห็นว่า ผู้เล่นหลักของเวทีโลกสามารถสร้างความไม่มั่นคงให้สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจได้อย่างไร

สหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ และไม่ว่าผลออกมา ใครจะกลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ สงครามการค้าก็จะยังดำเนินต่อไป ในขณะที่ประเด็นอิทธิพลครอบงำโลกจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนยิ่งตึงเครียดมากขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีความสำคัญมากขึ้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเล็กลง 3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2050 ความรุนแรงของภัยธรรมชาติจะเพิ่มมากขึ้นในอีกทศวรรษข้างหน้า และด้วยหลายเหตุผล การจัดการความเสี่ยงจะช่วยลดความรุนแรงที่มีต่อธุรกิจได้

ผลกระทบเศรษฐกิจ โควิด 19 ปัญหาเศรษฐกิจอาจนำไปสู่ปัญหาสังคม

โควิด 19 สร้างแรงสั่นสะเทือนในทุกภาคส่วน ทุกด้าน ของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านการเมือง และโดยเฉพาะ ผลกระทบเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า รัฐบาลต้องรีบออกมาตรการลดผลกระทบให้เร็วที่สุด

ธุรกิจร้านอาหาร ถ้ารอดจากโควิด 19 ต้องปฏิวัติตัวเอง

มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทั่วโลกใช้เพื่อหวังควบคุมการระบาดของโควิด 19 กำลังเป็นความท้าทายใหม่ของ อุตสาหกรรมร้านอาหาร และถ้ารอดมาได้ ถึงจุดที่ต้องปฏิวัติตัวเอง

related