svasdssvasds

"บีทีเอส" สายสีทอง เตรียมเปิดให้บริการ ต.ค.นี้ ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

"บีทีเอส" สายสีทอง เตรียมเปิดให้บริการ ต.ค.นี้ ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

รถไฟฟ้าสายสีทองขบวนแรก เตรียมเปิดให้บริการ ต.ค.นี้ ด้วยรถไฟไร้คนขับ พร้อมจัดเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดเผยภายหลังตรวจรับขบวนรถไฟฟ้าสายสีทอง ณ ท่าเทียบเรือ เอ 2 ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรองที่กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งแบ่งดำเนินการในระยะที่ 1 มีจำนวน 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี (GN1) สถานีเจริญนคร (GN2) และสถานีคลองสาน (GN3) ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่มีการพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ

ขณะนี้มีความก้าวหน้าในภาพรวม 89% โดยในส่วนของการก่อสร้างงานโยธา คืบหน้า 94.42% ส่วนงานระบบเดินรถ คืบหน้า 81% เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ต้องสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศเกิดความล่าช้าจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่ขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลายจึงสามารถเดินหน้างานในการทำงานอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ต้องขอบคุณทีมงานทุกๆ ส่วนของโครงการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด ผู้ติดตั้งระบบ รวมทั้งสำนักการจราจรและขนส่ง เจ้าของโครงการ สำนักการโยธา สำนักงานเขต และ กรมทางหลวงชนบทเจ้าของพื้นที่ สน.พื้นที่ รวมทั้งสำนักสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้การเร่งรัดงานเป็นไปด้วยดี ทำให้สามารถเปิดเดินรถได้ภายในปี 2563 โดยยังคงเป้าหมายเดิม คือในเดือนตุลาคมนี้ โดยอัตราค่าโดยสารตามที่ศึกษาไว้คือ จัดเก็บที่ 15 บาทตลอดสาย คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ในปีแรกที่เปิดให้บริการที่ 42,260 เที่ยว-คน/วัน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ถือเป็น Feeder (ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง) ที่ใช้รูปแบบรถที่มีขนาดกะทัดรัด  โดยเลือกใช้รถไฟฟ้า Automated People Mover - APM (ระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีความเหมาะสมกับพื้นที่และเป็น Feeder (ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง) ที่มีประสิทธิภาพที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในทุกโหมดไม่ว่าจะเป็นระบบรางสายหลักของรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยเชื่อมต่อกัน ที่สถานีกรุงธนบุรี ผู้โดยสารที่ใช้บัตรแรบบิทสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีทองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

นอกจากนี้รถไฟฟ้าสายสีทองยังเชื่อมต่อกับรถโดยสารประจำทางในพื้นที่ย่านคลองสานรวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางในเส้นทางเดินเรือแม่น้ำเจ้าพระยา และในอนาคตยังเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง - บางบอน - ราษฎร์บูรณะ และรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ อีกด้วย ทั้งนี้โครงการนี้ไม่มีการใช้งบประมาณจากทางราชการ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่รัฐ มีลักษณะคล้ายกับการดำเนินการระบบขนส่งมวลชนบางเส้นทางในประเทศญี่ปุ่น

นายสุมิตร ศรีสันติธรรม กล่าวว่า ในนามบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับว่าจ้างในการจัดหาขบวนรถ รวมถึงการเดินรถ และซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 30 ปี จากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยรถไฟฟ้าที่รับมอบในครั้งนี้ เป็นรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 ผลิตที่เมือง อู่หู มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเมื่อขบวนรถไฟฟ้าเดินทางมาถึงประเทศไทย บริษัทฯ จะนำขบวนรถไฟฟ้าไปยังโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีกรุงธนบุรี

สำหรับรถไฟฟ้ารุ่นดังกล่าว มีความพิเศษคือ เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบไร้คนขับ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยใช้รางนำทาง สามารถจุผู้โดยสาร 138 คน/ตู้ และ1 ขบวนสามารถจุผู้โดยสาร 276 คน/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 4,200 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร น้ำหนัก 16,300 กิโลกรัม ก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำ ความเร็วการทำงานสูงสุดที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากเกิดเหตุฉุกเฉินระบบจะทำการหยุดรถอัตโนมัติ และมีรถมารับผู้โดยสารทันที

related