svasdssvasds

มะกันเชือดยางรถยนต์ไทยด้วยการขึ้นภาษีลุ้นฎีกาพฤษภาคมนี้

มะกันเชือดยางรถยนต์ไทยด้วยการขึ้นภาษีลุ้นฎีกาพฤษภาคมนี้

สหรัฐเตรียมเชือดเก็บภาษีเอดียางรถยนต์จากไทย 13-22% กระทบตลาดส่งออก 8 หมื่นล้าน จับตาคู่ค้าหันนำเข้าจากอินโดฯ-อินเดียเพิ่ม กระทบการลงทุนจากจีนลงทุนตั้งโรงงานยางรถยนต์ใหม่ในไทยลดลง

อเมริกาคือตลาดส่งออกทุกอย่างรายใหญ่ของไทย

ต้องยอมรับว่าตลาดส่งออกหลัก ๆของไทย คือ สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไทยต้องพึ่งพาตลาดใหญ่อย่างอเมริกาที่โครงสร้างเศรษฐกิจใหญ่ มีสายพานการผลิตทุกอุตสาหกรรมอยู่ที่นี่มากมายหลากหลายอุตสาหกรรม ภาคการบริโภคในประเทศก็มีสูงเช่นกัน จะว่าไปแล้วอเมริกาก็เป็นประเทศคู่ค้ากับไทยมานานแสนนานแล้ว มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกันมาโดยตลอด

แต่...มาวันนี้โลกเปลี่ยนไป การค้าการลงทุนก็เปลี่ยนตาม การแข่งขันทางการค้ามีสูงขึ้น เกมการค้าการลงทุนก็รุนแรงตามเช่นกัน ผลประโยชน์ต่าง ๆ นานาก็มีมากขึ้นทำให้มีการกีดกันทางการค้ากันก็มีให้เห็นมากมายเพราะเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองสำคัญสุด อย่างเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา (DOC) ได้ประกาศผลการพิจารณาอัตราอากรการทุ่มตลาด(AD) สินค้ายางรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกขนาดเล็กจากไทย  เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งในเบื้องต้นในส่วนของประเทศไทยมีอัตรา AD อยู่ที่ 13.25-22.21% ของราคาซีไอเอฟ ซึ่งหลัก ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนเปิดโรงงานผลิตอย่างรถในไทย คือ จีน ญี่ปุ่น

มะกันเชือดยางรถยนต์ไทยด้วยการขึ้นภาษีลุ้นฎีกาพฤษภาคมนี้

ขีดเส้นตายฎีกาภาษียางรถยนต์พฤษภาคมนี้

โดยเรื่องนี้ได้เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความเห็นต่อผลการเจรจาดังกล่าวได้ภายใน 21 วัน และหากประสงค์ให้มีการเปิดรับฟังความเห็นสามารถยื่นคำขอต่อ DOC ได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ลงประกาศใน Federal Register  ซึ่ง DOC มีกำหนดประกาศผลการพิจารณาอัตรา AD ชั้นที่สุดในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 และคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USITC) มีกำหนดประกาศผลการพิจารณาด้านความเสียหายชั้นที่สุด ในวันที่ 28 มิถุนายน 2564

เอกชนลั่นกระทบต่อจีนที่จะเข้ามาลงใหม่ในไทยแน่

มาฟังความเห็นจากภาคเอกชนไทย นายชัยสิทธิ์  สัมฤทธิวณิชชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประทศไทย (ส.อ.ท.) ได้กล่าวว่า การเรียกเก็บภาษี AD ของสหรัฐฯจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ายางรถยนต์จากประเทศไทยไปสหรัฐฯอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ประกอบการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากคือผู้ประกอบการแบรนด์ไทย รวมถึงผู้ประกอบการจากจีนที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้เรียกเก็บภาษี AD สินค้ายางรถยนต์จากประเทศจีน(อัตรา 87.99% ตั้งแต่ปี 2558) ทำให้หลายค่ายจากจีนย้ายฐานมาลงทุนในไทย

อินโดนีเซีย -อินเดียอาจได้รับส้มหล่น

อย่างไรก็ตามสหรัฐฯถือเป็นตลาดส่งออกยางรถยนต์ใหญ่สุดของไทย หากถูกเก็บภาษีเอดี ประเทศที่คาดว่าจะได้อานิสงส์คืออินโดนีเซีย และอินเดีย ที่เป็นอีกสองประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ที่ไม่ได้ถูกใช้มาตรการ AD ซึ่งต้องรอดูว่าผู้นำเข้าสหรัฐฯจะหันไปนำเข้าจากสองประเทศนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ และสองประเทศนี้จะมีความสามารถส่งเข้าไปสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าคงไม่สามารถรองรับตามความต้องการของลูกค้าได้ทั้งหมดเพราะยางรถยนต์มีหลายคุณภาพ หลายราคา คาดว่าส่วนหนึ่งคู่ค้าก็จะยังมาสั่งซื้อจากไทยและจีนอยู่ ต้องรอดูผลระยะยาว แต่ผู้ประกอบการคงต้องเร่งหาตลาดอื่นชดเชย หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนผลิตยางรถยนต์รายใหม่ ๆ จากจีนคงไม่มาลงทุนในไทยเพิ่ม และจะส่งผลต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานด้วย แต่อาจจะไปลงทุนในอินโดนีเซีย และอินเดียแทนได้

ข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2562 ไทยส่งออกยางยานพาหนะไปทั่วโลกมูลค่ารวม 178,747 ล้านบาท ในจำนวนนี้ตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯมูลค่า 82,441 ล้านบาท, ออสเตรเลีย 7,155 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 6,619 ล้านบาท, มาเลเซีย 6,282 ล้านบาท และเกาหลีใต้ 5,221 ล้านบาท ส่วนปี 2563 (11 เดือนแรก)ส่งออกรวม 154,578 ล้านบาท ตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ 77,957 ล้านบาท, ออสเตรเลีย 6,582 ล้านบาท,ญี่ปุ่น 6,038 ล้านบาท,เกาหลีใต้ 5,476 ล้านบาท และมาเลเซีย 5,015 ล้านบาท ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่าเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ?

related