svasdssvasds

ขาใหญ่ ในตลาดหุ้น : ‘วรุตม์-ธัณฐภรณ์’ คู่สร้าง&เสริม SSP

ขาใหญ่ ในตลาดหุ้น : ‘วรุตม์-ธัณฐภรณ์’ คู่สร้าง&เสริม SSP

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

ขาใหญ่ ในตลาดหุ้น

‘วรุตม์-ธัณฐภรณ์’ คู่สร้าง&เสริม SSP

จากธุรกิจขนมขบเคี้ยว เยลลี่ “เจเล่” เมจิกฟาร์ม เบนโตะ หรือจะเป็นขนมน่องไก่ตราโลตัส ที่นักขบคุ้นเคยกันมานาน ผลิตภัณฑ์ค่าย “ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง” ของตระกูลดัง “ไกรพิสิทธิ์กุล” ย่านอ้อมน้อย วันนี้ “วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล” นักลงทุนรายใหญ่เจ้าของศรีนานาพร ได้ส่งบุตรสาวคนโต “ธัณฐภรณ์ ไกรพิสิทธิ์กุล” เข้าดูแลบริหารงานในบริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่นฯ หรือ SSP อย่างเต็มตัวในตำแหน่ง รองประธานกรรมการบริหาร ควบคู่กับคนข้างกาย “วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์” ประธานกรรมการบริหาร SSP ในวัย 30 ปีกลาง ๆ เป็นคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาลองเล่นกับไฟ โดยมองเห็นโอกาสจากภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ฯ ก่อตั้งและทำธุรกิจเมื่อปี 2558 หรือเพียง 2 ปีเศษจากการริเริ่มของ “วิวรรธน์” ผู้เป็นพ่อที่จู่ๆ ก็ลุกจากธุรกิจขนมขบเคี้ยว ลองหาโอกาสลงทุนแตกไลน์เข้าสู่โหมดพลังงาน โดยที่ยังไม่ได้ทิ้งธุรกิจเดิมของครอบครัวและยังได้ “วรุตม์” ลูกเขยที่มีประสบการณ์บริหารโรงไฟฟ้าเข้ามาช่วยอีกทาง ทั้ง “ธัณฐภรณ์-วรุตม์” จึงถือเป็นคู่สร้างเสริมแห่ง “เสริมสร้าง พาวเวอร์”

“วรุตม์” เล่าว่า บริษัทเสริมสร้างฯ ก่อกำเนิดมาเพียง 2 ปีเศษ การเป็นคนรุ่นใหม่ลงสนามแข่งกับรุ่นใหญ่ในวงการพลังงานทดแทน ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากถ้าไม่มีความมั่นใจ สิ่งสำคัญคือ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากแดด (โซลาร์ฟาร์ม) ที่ตัวเขาสั่งสมมาหลายปี “วรุตม์” จบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้า Purdue University ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโทพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วน ภรรยาปริญญาโท การเงิน Imperial College Business School ประเทศสหราชอาณาจักร

ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจและการจัดการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาตรี เศรษฐ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับวรุฒม์ เคยร่วมงานกับไชน่าไลน์ (COP) ถึง 5 ปี รับผิดชอบ โรงไฟฟ้าถ่านหิน อีกทั้งเคยร่วมงานในบริษัทบีแอลซีพี เพาเวอร์ฯ (BLCP) โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาบตาพุด ระยอง บริษัทร่วมทุนระหว่างบ้านปู และบริษัทผลิตไฟฟ้าฯ (EGCO) จากประสบ การณ์โรงไฟฟ้าทำให้ “วรุฒม์” ลงมาคุมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยตัวเอง ดูแลการติดตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์อย่างใกล้ชิดสำหรับโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกขนาด 40 เมกะวัตต์ ที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นโครงการแรกที่บริษัท เสริมสร้างฯ และคนรุ่นใหม่ทายาทธุรกิจดัง เข้ามาชิมลาง

การหาโอกาสครั้งแรกของเสริมสร้าง ด้วยขนาดกำลังการผลิตเริ่มต้นตูมเดียว  40 เมกะวัตต์ ถือว่าไม่ธรรมดา นอกจากกำลังเงิน ความสามารถ สายสัมพันธ์ (คอนเนกชัน ) ที่เชื่อมต่อจากธุรกิจขนมขบเคี้ยวดั้งเดิมของตระกูล “ไกรพิสิทธิ์กุล” แล้ว ความตั้งใจจริงที่เป็นส่วนผสมหนึ่ง ทำให้สูตรสำเร็จของ “เสริมสร้าง พาวเวอร์” ใช้เวลาเพียง 2 ปีเศษ เชื่อมั่นที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในเวลาไม่ช้านี้ พร้อมทั้งโอกาสมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 200 เมกะวัตต์ภายในปี 2563 ที่มาจากในประเทศและต่างประเทศ ประเดิมที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 3 เฟส กำลังการผลิต 53 เมกะวัตต์

“กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ ตอบโจทย์การลงทุนได้ ทุกอย่างที่ทำไป เราคือเจ้าของ ต้องให้ความสำคัญกับโปรเจ็กต์ที่ลงทุน เราจะโตจากสิ่งที่เรามี และทำดีที่สุดเพราะเราเป็นเจ้าของโครงการ เจ้าของสินทรัพย์ที่ลงทุน”

ผู้บริหารรุ่นใหม่คู่นี้ จบท้ายการสนทนาว่า การเป็นน้องใหม่ของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การลงมาคลุกใกล้ชิดกับงาน ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้เร็ว  ความสำเร็จจะเป็น แทกเร็กคอร์ด ที่ดีกับงานใหม่ๆ  รวมทั้งคำนิยามของธุรกิจการเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์พลังงานทดแทน ต้องมองเห็น “ทุกอย่างเป็นโอกาสในการทำ เรียนรู้การแก้ไข สร้างความแฟร์ (FAIR) ให้กับทุกคน ที่ร่วมกันใน “เสริมสร้าง พาวเวอร์”

โปรยคำพูด:ความตั้งใจจริงเป็นส่วนผสมหนึ่ง... ของสูตรสำเร็จ “เสริมสร้าง พาวเวอร์”

คอลัมน์ : ขาใหญ่ ในตลาดหุ้น / หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3291 ระหว่างวันที่ 27-30 ส.ค.2560

related