svasdssvasds

สหภาพยุโรปยังคงไม่มีทางออกวิกฤตผู้อพยพทางทะเล

สหภาพยุโรปยังคงไม่มีทางออกวิกฤตผู้อพยพทางทะเล

สหภาพยุโรปยังคงไม่สามารถสรุปมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติผู้อพยพทางทะเลได้ หลังการประชุมฉุกเฉินระหว่าง 16 ชาติสมาชิก ขณะที่ก็ยังมีเรือช่วยเหลือผู้อพยพทางทะเลลอยลำรอจอดเทียบท่าประเทศยุโรป

นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล กล่าวหลังการประชุมฉุกเฉินกับสมาชิกสหภาพยุโรปอีก 15 ชาติ ในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่ยังโต้เถียงกันว่าใครควรจะรับผู้อพยพทางทะเลที่เดินทางมาถึงอิตาลีและอีกหลายประเทศเหล่านี้  แมร์เคิลระบุว่า ทุกประเทศเห็นตรงกันว่าต้องการลดจำนวนคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และต้องการปกป้องพรมแดน

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

“เราเห็นตรงกันว่าเราต้องการลดจำนวนคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ว่าเราต้องการปกป้องพรมแดนของเรา และเราทั้งหมดรับผิบชอบต่อทุกประเด็น ไม่ใช่ว่าจะจัดการกับเรื่องผู้อพยพกับประเทศต้นทาง และผู้อพยพจากประเทศที่สองเท่านั้น ทุกคนรับผิดชอบต่อทุกอย่าง ที่ไหนก็ตาม เราต้องการมาตรการของยุโรป”

ผู้นำเยอรมนีกำลังได้รับความกดดันให้หามาตรการแก้วิกฤติผู้อพยพทางทะเล ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปวันที่ 28 – 29 มิถุนายนนี้ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลของเธอกำลังผลักดันให้มีนโยบายผู้อพยพที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งประเด็นนี้อาจนำไปสู่ปัญหาการเมืองในประเทศเยอรมนีเองได้

ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า แต่ละประเทศก็มีความเห็นตรงกันเรื่องที่จะเพิ่มความเข้มงวดตามชายแดน และร่วมมือกับประเทศส่งผ่านมากขึ้น

นอกจากนี้ มาครงยังได้กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงปารีส เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ผู้อพยพในยุโรป ที่เจ้าหน้าที่จะสามารถประเมิณสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วว่าคนที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายแต่ละคนนั้น สามารถยื่นเอกสารเป็นผู้ลี้ภัยได้หรือไม่ และส่งคนที่ไม่สามารถยื่นเรื่องได้กลับประเทศ

 เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

“เราไม่ต้องการให้เป็นเรื่องของแต่ละกรณีแยกกัน แต่ต้องการเสนอมาตรการที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาที่ท้าทายนี้ นี่เป็นเรื่องที่เราจะหารือพรุ่งนี้ด้วย และผมเชื่อว่าเรามีความเห็นตรงกันเรื่องนี้ ในการจัดการกับผู้อพยพที่เดินทางมาถึงแล้ว กฎระเบียบด้านมานุษยธรรม และหลักการบรรเทาทุกข์”

อิตาลีเป็นประเทศที่อยู่แถวหน้าของปัญหานี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปฏิเสธไม่ให้เรือช่วยเหลือผู้อพยพที่ชื่อ "อควาเรียส" เทียบท่า และพยายามส่งต่อให้มัลตา มัลตาปฏิเสธเช่นกัน สุดท้ายสเปนเปิดท่าเรือวาเลนเซียรับผู้อพยพจากเรือลำดังกล่าว ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอิตาลีก็ได้เรียกร้องให้ชาติอื่นๆในสหภาพยุโรปมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น และเรียกร้องให้เรือองค์กรการกุศลหยุดช่วยเหลือผู้อพยพในทะเล ไม่กี่วันต่อมา เรือช่วยเหลืออีกลำหนึ่งที่ชื่อว่า "ไลฟ์ไลน์" บรรทุกผู้อพยพกว่า 200 คน ได้ถูกปฏิเสธขอขึ้นฝั่งจากอิตาลีและมัลตาเช่นกัน

related