svasdssvasds

ศาลสูงสุดอินเดียชี้ขาดรักร่วมเพศไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

ศาลสูงสุดอินเดียชี้ขาดรักร่วมเพศไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

ศาลสูงสุดอินเดียมีคำสั่งให้ยกเลิกการแบนรักร่วมเพศหลังกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศของอินเดียเรียกร้องมาหลายทศวรรษให้มีการยกเลิกกฎหมายลิดรอนสิทธิของพวกเขาซึ่งใช้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม

ชาวอินเดียที่มีความหลากหลายทางเพศพากันออกมาเฉลิมฉลองท่ามกลางน้ำตาของความดีใจในหลายเมืองทั่วประเทศหลังคณะผู้พิพากษา 5 คนของศาลสูงสุดได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป

นายอีภัค มิสรา ประธานศาลสูงสุด ได้ประกาศว่า กฎหมายมาตรา 377 ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ยุคอังกฤษปกครองอินเดียในปีค.ศ. 1861 นั้นเป็นอาวุธที่คุกคามกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานทางเพศถือเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐาน

บรรดานักเคลื่อนไหวมองว่าคำตัดสินของศาลเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเช่นอินเดีย และกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนามักต่อต้านการให้เสรีภาพในศีลธรรมทางเพศ

การมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลรักร่วมเพศนั้นจึงถือเป็นสิ่งต้องห้ามในอินเดีย และมาตรา 377 ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติไม่ว่าจะกับผู้ชายด้วยกัน ผู้หญิงด้วยกัน หรือแม้แต่กับสัตว์  โดยมีโทษจำคุกได้สูงสุดถึง 10 ปี

ผู้ที่ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า เป็นกฎหมายที่สร้างความเกลียดชังบุคคลรักร่วมเพศ และในชนบท ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทางการก็ใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการคุกคามบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ทั้งนี้ บรรดานักเคลื่อนไหวได้เรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 แล้ว และฝ่าฟันการตัดสินของศาลชั้นก่อนหน้าที่พลิกไปมาแล้วหลายครั้ง จนกระทั่งมาถึงการตัดสินของศาลสูงสุดในวันนี้

ด้านรัฐบาลอินเดียมีท่าทีต่อต้านการยกเลิกมาตราดังกล่าว แต่ระบุว่าปล่อยให้เป็นการตัดสินใจตาม"สติปัญญา"ของศาลสูงสุด และเตือนว่า ผู้พิพากษาไม่ควรเปลี่ยนแง่มุมอื่นของกฎหมาย เช่น สิทธิในการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ

จากข้อมูลของทางการอินเดียพบว่า ในปี 2016 มีการดำเนินคดี 2187 กรณีภายใต้มาตรา 377 และมีผู้ถูกตัดสินความผิดไปแล้ว 7 ราย และอีก 16 คนได้รับการยกฟ้อง

related