svasdssvasds

ทรัมป์ วิพากษ์ อิหร่าน หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความวุ่นวาย บนเวทียูเอ็น

ทรัมป์ วิพากษ์ อิหร่าน หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความวุ่นวาย บนเวทียูเอ็น

บรรดาผู้นำโลกต่างขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ในปีนี้ โดยแต่ละคนก็พูดถึงในแต่ละประเด็นแตกต่างกันไป เดี๋ยวเราไปดูกันว่าผู้นำโลกพูดถึงประเด็นอะไรกันบ้าง

รวมความเห็นผู้นำโลก เวทียูเอ็น

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ พูดถึงหนึ่งในประเด็น ที่ประชาคมโลก กำลังจับตามองอยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือ การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าทำให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ ให้หมดสิ้นไปให้ได้ และในตอนนี้ ก็เริ่มมีสัญญาณอันดีแล้ว เพราะไม่มีการทดสอบขีปนาวุธ หรือจรวดจากเกาหลีเหนืออีก อีกทั้งยังไม่มีการทดสอบนิวเคลียร์ด้วย อย่างไรก็ตาม หนทางสู่ความสำเร็จนั้นยังอีกยาวไกล และมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ จะยังมีผลอยู่ จนกว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์จะเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้วิพากษ์วิจารณ์อิหร่าน ว่า กำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความวุ่นวาย การเสียชีวิต และการทำลายล้างไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง และว่า เขาตัดสินใจถูกแล้วที่ยกเลิกข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ออกไป เพราะนั่นทำให้รัฐบาลของเขาบรรลุเป้าหมายมากกว่ารัฐบาลชุดไหนๆ ในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกา

คำกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี แห่งอิหร่าน ออกมาตอบโต้ว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลอิหร่าน พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ หันกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา นอกจากนี้ยังกล่าวโทษว่า สหรัฐฯ กำลังทำสงคราจิตวิทยา กับอิหร่านด้วย ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธว่าอิหร่าน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และยืนยันว่า โครงการนิวเคลียร์ของประเทศไม่ได้มีไว้เพื่อคุกคามใคร

ด้านนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่น กล่าวว่า เขาจะผลักดันและเสริมสร้างความแข็งแรง ให้กับระบบการค้าเสรีในภูมิภาค โดยญี่ปุ่น กับสหรัฐฯ เป็นผู้นำในระบบการค้าเสรีโลก มาเป็นระยะเวลานานหลายปีแล้ว และเขาก็ต้องการใหทั้ง 2 ประเทศ ยังคงสถานะนี้เอาไว้ นอกจากนี้ยังได้พูดถึงประเด็นเกาหลีเหนือว่า เขาพร้อมที่จะพบปะกับนายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เพื่อคลี่คลายปมขัดแย้ง ทั้งเรื่องการลักพาตัวพลเมืองชาวญี่ปุ่นกับเรื่องอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธเกาหลีเหนือ และเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศใหม่

ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส กล่าวถึงนโยบายด้านอิสราเอลกับปาเลสไตน์ของประธานาธิบดีทรัมป์ ว่า การเดินหน้าริเริ่มอะไรใหม่ๆ แต่เพียงฝ่ายเดียวด้วยการเหยียบย่ำชาวปาเลสไตน์นั้น ไม่ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ได้

ส่วนประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ที่ตอนนี้ กำลังมีประเด็นขัดแย้งกับสหรัฐฯ เรื่องบาทหลวงชาวอเมริกัน ที่ถูกทางการตุรกี จับกุมตัว กล่าวว่า ประเทศ ของเขา จะไม่ยอมนิ่งเฉย ต่อการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นอาวุธ และกล่าวว่า สหรัฐฯควรต้องให้ความเคารพ ต่อกระบวนการยุติธรรมของตุรกี ในการสอบสวนคดีของบาทหลวงรายนี้ โดย เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ อนุมัติ ให้เก็บภาษีอะลูมิเนียม และเหล็กนำเข้าจากตุรกีเพิ่ม เพื่อตอบโต้ที่ตุรกี จับกุมบาทหลวงชาวอเมริกัน

related