svasdssvasds

ผู้เชี่ยวชาญกังขาสึนามิอินโดนีเซียแรงเกินคาด

ผู้เชี่ยวชาญกังขาสึนามิอินโดนีเซียแรงเกินคาด

นักวิทยาศาสตร์แปลกใจขนาดสึนามิที่พัดถล่มเมืองปาลูของอินโดนีเซียใหญ่และรุนแรงเกินขนาดของแผ่นดินไหว โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสูญเสียที่มาก อาจมาจากระบบการเตือนภัยที่ด้อยประสิทธิภาพ

หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า ดร. เจสัน  แพทเทิน นักธรณีฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยฮัมโบลท์ สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งข้อสังเกตหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยระบุว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอาจจะเกิดสึนามิ แต่ไม่ได้คาดคิดว่าจะใหญ่ขนาดนี้

ทั้งนี้ แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมาบริเวณแนวชายฝั่งของเกาะสุลาเวลี ห่างจากตอนเหนือของเมืองปาลูราว 80 กิโลเมตร ประมาณสามสิบนาทีหลังจากนั้น ได้เกิดคลื่นสึนามิ สูงถึง 5.4 เมตรพัดเข้าชายฝั่ง ทำลายอาคารบ้านเรือนและคร่าชีวิตผู้คนนับพัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิคนอื่นๆ ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนการขาดแคลนระบบการตรวจจับและการเตือนภัยสึนามึขั้นสูงของอินโดนีเซีย

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ภัยสึนามิที่สร้างความเสียหายรุนแรงมักเกิดตามมาหลังจากมีแผ่นดินไหวเมกาทรัสต์ โดยธรณีภาคแผ่นหนึ่งถูกแรงกระทำให้มุดตัวเข้าใต้ธรณีภาคอีกแผ่นหนึ่ง และมักมีแรงสั่นสะเทือนรุนแรงเกิน 9 แมกนิจูด ทำให้น้ำกระเพื่อมมหาศาลและตามมาด้วยคลื่นสึนามิที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและสามารถสร้างความเสียหายได้มากแม้ว่าอยู่ไกลจาดจุดเกิดเหตุหลายพันกิโลเมตรก็ตาม

ในปีค.ศ. 2004 ที่เกิดคลื่นสึนามิยักษ์ในมหาสมุทรอินเดียหลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 แมกนิจูดบริเวณเกาะสุมาตรา ในครั้งนั้นคลื่นสึนามิมีความสูงมากสุดถึง 30 เมตร และคร่าชีวิตผู้คนราวสองแสนกว่าคนตั้งแต่อินโดนีเซียไปจนถึงแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เกิดกับรอยเลื่อนตามแนวระดับ ทำให้เปลือกโลกเคลื่อนตัวตามแนวนอน โดยปกติแล้วการเคลื่อนตัวเช่นนี้จะไม่ทำให้เกิดสึนามิ แต่ดร.แพทเทินระบุว่า อาจมีบางปัจจัยที่ทำให้เกิดสึนามิได้ด้วย เช่น มีรอยเลื่อนใดรอยเลื่อนหนึ่งเคลื่อนตัวแบบแนวตั้งมากจนทำให้น้ำทะเลกระเพื่อม หรือไม่ก็รอยเลื่อนตรงจุดที่เกิดเหตุอาจเคลือนผ่านบริเวณที่พื้นมหาสมุทรขึ้นหรือต่ำลงพอดี จึงเป็นการผลักน้ำทะเลที่อยู่ตรงหน้าไปด้วย

อีกความเป็นไปได้ก็คือ สึนามิครั้งนี้เกิดขึ้นโดยทางอ้อม จากการสั่นสะเทือนรุนแรง จนทำให้เกิดภาวะดินถล่มไต้ทะเล ทำให้น้ำทะเลกระจัดกระจายจนเกิดคลื่นยักษ์

ดร. แพทเทินระบุว่า สีนามิครั้งนี้อาจเกิดจากสองทฤษฎีข้างต้นรวมกัน การศึกษาเรื่องพื้นทะเลจึงจะเป็นเรื่องสำคัญเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจน

นอกจากนี้ สถานที่ตั้งของเมืองปาลูอยู่ในจุดอ่าวที่แคบ จึงอาจทำให้พลังของคลื่นม้วนตัวที่อ่าว จนทำให้คลื่นสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อปะทะเข้าชายฝั่ง

อย่างไรก็ตาม เดอะ นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า สึนามิเกิดขึ้นใกล้เมืองปาลูมาก จนทำให้เหลือเวลาในการอพยพประชาชนน้อย นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกเตือนภัยสึนามิแล้วแต่กลับประกาศยกเลิกครึ่งชั่วโมงต่อมา

ดร. หลุยส์ คอมฟอร์ต จากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก ระบุว่า อินโดนีเซียใช้เพียงแค่เครื่องมือวัดคลื่นแผ่นดินไหว / ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกหรือ GPS / และมาตรวัดระดับน้ำเพื่อตรวจหาสึนามิ ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอ

ดร.คอมฟอร์ตระบุว่า สำหรับสหรัฐฯ องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NOAA มีเครื่อข่ายเซนเซอร์ตรวจจับใต้มหาสมุทรถึง 39 ตัวที่สามารถตรวจจับความเปลี่ยนแปลกที่เล็กมากและระบุการเคลื่อนตัวของสึนามิได้ ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลเหล่านี้ผ่านดาวเทียมและนำมาวิเคราะห์ เพื่อประกาศเตือนในเวลาต่อมา ส่วนอินโดนีเซียก็มีระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ถึง 22 ตัว แต่ไม่ได้ใช้แล้วเพราะไม่มีการบำรุงรักษาที่เหมาะสม

ดร.คอมฟอร์ตระบุว่า เธอกำลังทำงานกับ 3 หน่วยงานของรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อนำระบบตรวจจับใหม่มาใช้เพื่อการสื่อสารใต้ทะเล แทนการใช้ทุ่นตามพื้นผิวน้ำ ที่มักถูกขโมยหรือถูกเรือชนจนเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ดร.คอมฟอร์ตตั้งข้อสังเกตว่า จากการหารือกับสามหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อติดตั้งระบบต้นแบบที่เกาะสุมาตรา แต่โครงการกลับถูกระงับเมื่อเดือนที่แล้วเพราะหน่วยงานทั้งสามยังหาวิธีทำงานร่วมกันไม่ได้

ดร.คอมฟอร์ตระบุว่า เป็นเรื่องที่ทำให้ใจสลายเมื่อเธอรู้ว่ามีเทคโนโลยีพร้อมใช้งานได้ แต่ไม่ได้ใช้ และอินโดนีเซียตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ ซึ่งสึนามิก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งแน่นอน

 

related