svasdssvasds

เศรษฐกิจอินโดฯ เสี่ยงกระทบหนักจากภัยธรรมชาติต่อเนื่อง

เศรษฐกิจอินโดฯ เสี่ยงกระทบหนักจากภัยธรรมชาติต่อเนื่อง

ในรอบปีที่ผ่านมา เกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติกับอินโดนีเซียไปแล้วหลายครั้ง สร้างความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดสึนามิพัดถล่มเมืองปาลู เกาะสุลาเวสี ทำให้มีการคาดการณ์ถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ

แม้เศรษฐกิจของจังหวัดสุลาเวสีตอนกลางนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของจีดีพีของประเทศอินโดนีเซีย แต่ความเสียหายต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้สำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดว่า จะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการฟื้นฟู ซึ่งจะมีผลต่อสถานะการคลังของประเทศซึ่งกำลังเผชิญปัญหาค่าเงินรูเปียห์ตกต่ำ

ในวันอังคารที่ผ่านมา เงินรูเปียห์อ่อนค่าต่ำกว่า 15,000 รูเปียห์ต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี และหากคำนวนตลอดทั้งปีค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าไปแล้วราว 10% นอกจากนี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีโจโก วิโดโดยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 7% ตามเป้าที่ตั้งไว้ และยังถูกโจมตีว่ากำลังทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมของเกาะต่างๆของประเทศ

ขณะนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียพุ่งเป้าไปที่การซ่อมแซมสนามบินเมืองปาลูที่เสียหายพร้อมส่งอุปกรณ์หนักและบุคลากรเข้าไปพื้นที่เพื่อการช่วยเหลือผู้คน แต่ในขั้นตอนต่อไปคือการปื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบไฟฟ้า และการจัดหาที่พักสำหรับประชากรราวห้าหมื่นคนที่สูญเสียบ้าน

เศรษฐกิจอินโดฯ เสี่ยงกระทบหนักจากภัยธรรมชาติต่อเนื่อง

เอ็ดเวิร์ด กัสลีย์ ผู้บริหารจากบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน เพนิดาแคปิตอล ระบุว่า ภัยธรรมชาติล่าสุดที่เกาะสุลาเวสีจะทำให้การบริหารงบประมาณของรัฐบาลอินโดนีเซียตึงตัว และยังไม่แน่ชัดว่าเหลืองบประมาณให้รัฐบาลใช้จ่ายในการฟื้นฟูบ้านเมืองมากเท่าไหร่

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หลังธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะนักลงทุนพากันเทขายเงินรูเปียห์ โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วห้าครั้งนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อปกป้องค่าเงินของประเทศ

เศรษฐกิจอินโดฯ เสี่ยงกระทบหนักจากภัยธรรมชาติต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ประธานาธิบดีโจโกวีหวังช่วยให้มีเงินสกุลดอลลาร์เข้าประเทศมากขึ้น เพื่อปกป้องค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

กระทรวงการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียระบุว่า ในปี 2017 อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติราว 14 ล้านคน เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 22% และคาดว่าจะมีรายได้จากเงินตราต่างประเทศที่ได้จากนักท่องเที่ยวราวสองหมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 6.6 แสนล้านบาทในปีนี้

วิสนุ วาร์ดานา นักเศรษฐศาสตร์จาก พีที แบงค์ ดานามอน ระบุว่า การประชุมธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งจะมีขึ้นที่เกาะบากลีกลางเดือนนี้ ควรมีการช่วยเสริมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในการรับมือกับภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ ทำอย่างไร จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศอีก

เศรษฐกิจอินโดฯ เสี่ยงกระทบหนักจากภัยธรรมชาติต่อเนื่อง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า นี่คือโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา เหตุแผ่นดินไหวติดกันหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนที่เกาะลอมบอก แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง และในช่วงปลายปีที่แล้ว ก็เกิดเหตุภูเขาไปอากุงที่เกาะบาหลีปะทุ ตามมาด้วยการปะทุของภูเขาไฟเมราปีใกล้กับเมืองยอคยากาตาร์ในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศ

นอกจากนี้ ภัยพิบัติสึนามิครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่อินโดนีเซียอยู่ในฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่นายโจโกวีลงชิงชัยสมัยที่สอง

นายโจโกวีลงพื้นที่เมืองปาลูทันทีที่เกิดเหตุ และให้คำมั่นจะรีบฟื้นฟูบ้านเมืองที่เสียหายโดยเร็ว ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าระบบตรวจจับสึนามิของรัฐบาลนั้นใช้การไม่ได้

เศรษฐกิจอินโดฯ เสี่ยงกระทบหนักจากภัยธรรมชาติต่อเนื่อง

นี่จึงเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญอีกครั้งของผู้นำอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน ว่าจะฟื้นฟูบ้านเมืองกลับมาได้อย่างไรให้ทันตามความต้องการของประชาชน ท่ามกลางปัจจัยบีบคั้นด้านเศรษฐกิจหลายประการ

 

related