svasdssvasds

คดีสังหารคาช็อกกี้ สะท้อนระเบียบโลกกำลังเปลี่ยน?

คดีสังหารคาช็อกกี้ สะท้อนระเบียบโลกกำลังเปลี่ยน?

สามสัปดาห์ผ่านไปแล้วหลังนายจามาล คาช็อกกี้ นักข่าวชาวซาอุฯ ถูกสังหารโหดภายในสถานกงสุลซาอุฯในตุรกี เรื่องดังกล่าวทำให้ทั่วโลกตกใจ บรรดานักวิเคราะห์กำลังตั้งคำถามว่า ผลกระทบจากเรื่องนี้ เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนระเบียบโลกหรือไม่

“การปกปิดผู้ที่ก่อเหตุตัวจริงของการสังหารครั้งนี้คือการดูหมิ่นสติปัญญาของมนุษยชาติ”

นี่คือคำแถลงของประธานาธิบดีเรเซ็ป เทย์ยิป เออร์โดกัน ของตุรกี ต่อรัฐสภาถึงเหตุการณ์สังหารนายจามาล คาช็อกกี้ นักข่าวชาวซาอุฯ อย่างโหดเหี้ยม ภายในสถานกงสุลซาอุฯในตุรกี

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่าคำแถลงนี้ แตกต่างอย่างชัดเจนจากประธานาธิบดีนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ที่สงวนท่าที สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากความเสื่อมถอยของนโยบายต่างประเทศที่เน้นคุณค่าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดนี้ ที่เป็นการสังหารโหดบนผืนแผ่นดินชาติอื่น โดยเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯเอง

นักวิเคราะห์มองว่า การสังหารนายคาช็อกกี้นั้นเป็นผลมาจากการที่ซาอุฯเชื่อว่ารัฐบาลของนายทรัมป์ให้ไฟเขียวในการใช้แนวทางนี้ในการดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศ

ขณะเดียวกัน การฆาตกรรมคาช็อกกี้ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาด้วยว่า ซาอุดิอาระเบียจะกลายเป็นเบี้ยภูมิรัฐศาสตร์การเมืองต่อไปที่อาจหลุดจากมือสหรัฐฯหรือไม่ ซึ่งนายชาร์ลส์ รีส อดีตนักการทูตของสหรัฐฯระบุว่า สหรัฐฯมีบทบาทน้อยลงกว่าในยุค 90 จริง และตอนนี้จีนมีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่รัสเซียก็ดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น

ในปีที่แล้ว ซาอุดิอาระเบียซื้ออาวุธจากสหรัฐฯมูลค่าราว 1.2 แสนล้านบาท แต่ก็ซื้ออาวุธจากรัสเซียด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ซาอุฯก็ยังหารือกับรัสเซียมากขึ้นในเรื่องราคาน้ำมัน และการซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ เอส – 400

ในครั้งนี้ ผู้นำตุรกีก็ช่วยเติมเชื้อไฟโยนไปให้ซาอุดิอาระเบีย ด้วยการแถลงว่านายคาช็อกกี้นั้นถูกเจ้าหน้าที่ซาอุฯสังหารโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขัดแย้งกับคำแถลงของซาอุดิอาระเบียที่บอกว่าการเสียชีวิตของนายคาช็อกกี้นั้นเป็นอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า การกดดันให้มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ออกจากตำแหน่ง จะยิ่งทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมหาศาล

ขณะเดียวกันสถานีโทรทัศน์อัล อราบียา ยังรายงานว่า ทางการซาอุฯกำลังเตรียมมาตรการตอบโต้ราว 30 มาตรการหากบรรดาชาติตะวันตกคว่ำบาตรจากกรณีสังหารนายคาช็อกกี้ หนึ่งในมาตรการที่เตรียมไว้ ก็คือการทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเป็น 200 เหรียญต่อบาร์เรล และการเปลี่ยนไปซื้ออาวุธจากจีนและรัสเซียแทน นอกจากนี้จะยุติการแบ่งปันข่าวมูลข่าวกรองด้านก่อนการร้ายกับชาติตะวันตกด้วย

อย่างไรก็ตาม นายนีล กีเลียม อดีตนักการทูตของอังกฤษ ระบุว่า ซาอุฯไม่น่าจะหันเหจากสหรัฐฯไปในทันที เพราะการออกจากการคุ้มครองด้านความมั่นคงของสหรัฐฯต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ด้าน นายรีส อดีตนักการทูตสหรัฐฯมองว่า การเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางดำเนินไปช้ากว่าที่คิด รัสเซียอาจเข้ามาคุมซีเรียได้ แต่นั่นก็เป็นเพราะอิหร่านเป็นพันธิมิตรหลักของซีเรียมานานแล้ว และรัสเซียก็มีฐานทัพอยู่ในซีเรียอยู่แล้ว

นายรีสมองว่าตอนนี้ซาอุดิอาระเบียก็มีตัวเลือกพอๆกับชาติอื่นๆ ในเกมนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความสัมพันธ์ระหว่างของชาติเหล่านี้ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ และผลประโยชน์ที่ว่าก็ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่นักด้วย

related