svasdssvasds

ซัดไม่รู้ตัว! อ.ธรณ์ คาดสึนามิอินโดฯ ภูมิประเทศทำระบบเตือนไม่ทัน

ซัดไม่รู้ตัว! อ.ธรณ์ คาดสึนามิอินโดฯ ภูมิประเทศทำระบบเตือนไม่ทัน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

จากกรณีที่เมื่อคืนที่ผ่านมา (22 ธ.ค.) เกิดเหตุภูเขาไฟกรากะตัว บนเกาะบริเวณช่องแคบซุนดรา ระหว่างเกาะชวากับเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เกิดปะทุ ระเบิดอย่างรุนแรง ปล่อยธารลาวาไหลลงสู่ทะเล ทำให้เกิดคลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งอินโดนีเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกับวิเคราะห์สาเหตุที่การเกิดสึนามิทั้ง 2 ครั้งในประเทศอินโดนีเซีย ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าไม่ใช่เพราะระบบแจ้งเตือนมีปัญหาว่ามีหลายสาเหตุ

ซัดไม่รู้ตัว! อ.ธรณ์ คาดสึนามิอินโดฯ ภูมิประเทศทำระบบเตือนไม่ทัน

1. สึนามิทั้ง 2 ครั้ง ไม่ได้ส่งผลรุนแรงเป็นวงกว้าง แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้กับจุดเกิดแผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด คลื่นสึนามิเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง (800 กม./ชม.) ทำให้เข้าฝั่งก่อนแจ้งเตือนทัน เช่น ในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น จากภูเขาไฟอานัคการากาตัวไปถึงชายฝั่งรอบช่องแคบซุนดา ระยะทางเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร

2. สภาพภูมิประเทศที่ซับซ้อน อาจทำให้เกิดสึนามิโดยที่ระบบแจ้งเตือนไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เช่น ครั้งที่เกิดช่วงเดือนตุลาคม หนนี้ก็เช่นกัน หากดูแผนที่ เพื่อนธรณ์จะเห็นว่าซับซ้อนมาก ทั้งแหลม ทั้งเกาะ ทั้งช่องแคบ มีอยู่เต็มไปหมด เป็นพื้นที่แห่งเดียวกับที่เคยเกิดมหาภัยพิบัติ 1883 ครั้งที่การากาตัวระเบิด ภูมิประเทศแบบนี้ ทำให้เกิดแรงบีบอัดน้ำบางจุด แต่บางจุดก็อาจไม่โดนหรือโดนน้อย ยากที่จะเจาะจงลงรายละเอียดได้

3. ปัจจุบัน ชายหาดส่วนใหญ่เริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีผู้คนอาศัย ผิดไปจากสมัยก่อน แม้แต่พื้นที่เคยโดนสึนามิ ก็ยังมีคนอาศัยเพิ่มมากขึ้น มีโรงแรมสำหรับผู้อยากไปเที่ยวดูภูเขาไฟการากาตัว อันเป็นตำนาน ยิ่งมีการปะทุเป็นระยะ ก็ยิ่งมีคนอยากดู เมื่อเกิดสึนามิ แม้จะเป็นขนาดเล็ก แต่ก็สร้างผลกระทบต่อประชาชนรุนแรงมากขึ้น

ซัดไม่รู้ตัว! อ.ธรณ์ คาดสึนามิอินโดฯ ภูมิประเทศทำระบบเตือนไม่ทัน

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ได้เตือนว่า เมื่อเราเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง เราก็ต้องหาข้อมูลให้มาก และเตรียมตัวระวังไว้มากกว่าการเที่ยวทั่วไป ทั้งหมดนี้ และอีกหลายสาเหตุที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป ทำให้วงการผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติคงต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เพิ่มการศึกษาในส่วนต่างๆ ให้ครอบคลุม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน

เมื่อลองดูประเทศไทย จะเห็นว่าสภาพภูมิประเทศของเราต่างจากอินโดนีเซีย สำคัญสุดคือจุดกำเนิดสึนามิ ประเทศไทยไม่ได้มีภูเขาไฟในทะเลเหมือนอินโดนีเซีย ไม่มีการระเบิดแบบฉับพลัน เกาะภูเขาไฟแบบแอคทีฟในทะเล ใกล้เรามากที่สุดก็อยู่ในอินโดนีเซีย และอยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร หากดูในเรื่องแผ่นดินไหว จุดกำเนิดแผ่นดินไหว (รอยเลื่อนเปลือกโลก) ใกล้เราที่สุดอยู่ทางทะเลอันดามัน บริเวณเกาะสุมาตรา นิโคบาร์ และอันดามัน

ซัดไม่รู้ตัว! อ.ธรณ์ คาดสึนามิอินโดฯ ภูมิประเทศทำระบบเตือนไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม ระยะทางยังห่างไปหลายร้อยกิโลเมตร และเป็นทะเลเปิด เราติดตั้งทุ่นเตือนภัยไว้ น่าจะทราบล่วงหน้า (ถ้าทุ่นยังใช้ได้นะครับ) นอกจากนี้ เราจะทราบข่าวก่อน แม้จะเป็นหลัก 2 ชั่วโมง แต่ก็ยังทราบก่อน ไม่เหมือนชาวอินโดหนล่าสุดที่คลื่นเข้ามาแบบไม่ทันรู้ตัว โดยสรุป เมื่อดูจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด โอกาสที่เกิดสึนามิแบบรุนแรงจนสร้างความเสียหายใน “อ่าวไทย” นับว่ามีน้อยยิ่งนักและเนื่องจากอยู่ไกลไปถึงอินโดนีเซีย เราจะทราบล่วงหน้าเป็นเวลานานนับสิบชั่วโมง

จึงไม่ต้องตื่นตระหนก เมื่อได้ยินข่าวน้ำลดผิดปรกติในอ่าวไทย เพราะเกิดขึ้นเป็นระยะ และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสึนามิ ก่อนสึนามิเข้า น้ำลดต่ำจริง แต่น้ำลดเพราะคลื่นดูดน้ำไป ลดแล้วแป๊บเดียวแค่ไม่กี่นาทีคลื่นก็เข้า ไม่ใช่ลดล่วงหน้ากันเป็น 2-3 ชั่วโมงจนเป็นข่าวหรือเป็นภาพในไลน์ส่งมาหาเราได้ ในกรณีทะเล “อันดามัน” เราคงต้องระวังนิด เพราะใกล้กับจุดเสี่ยงแผ่นดินไหว มากกว่าอ่าวไทย แต่เราจะทราบข่าวล่วงหน้าสักแป๊บ และหวังว่าจะมีการตรวจสอบและซักซ้อมระบบเตือนภัยทั้งในทะเลและบนบกอย่างมีประสิทธิภาพ

related