svasdssvasds

สหรัฐฯ-จีน ประเด็นขัดแย้งที่มากกว่าเรื่องการค้า

สหรัฐฯ-จีน ประเด็นขัดแย้งที่มากกว่าเรื่องการค้า

สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนดูเหมือนว่าจะเริ่มผ่อนคลาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้สร้างผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจโลกแล้ว แต่นักวิเคราะห์ระบุว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างสองมหาอำนาจนั้นเกินกว่าแค่เรื่องการค้า แต่เป็นเรื่องที่ครอบคลุมถึงเศรษฐกิจ กลาโหม วัฒนธรรม และเทคโนโลยีด้วย

บทวิเคราะห์สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า แม้จะได้เห็นภาพประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จับมือกับรองนายกรัฐมนตรี หลิว เห้อ ของจีน เมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศนั้นหยั่งลึกเกินกว่าแค่การค้า อดีตที่ปรึกษากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แดเนียล คลีแมน ระบุว่า ทัศนคติที่สหรัฐฯมีต่อจีนได้เอนเอียงไปทางด้านลบตั้งแต่ก่อนยุคของทรัมป์แล้ว เป็นที่รู้กันว่าวิธีที่สหรัฐฯปฏิบัติต่อจีนที่ผ่านมานั้นไม่ได้ผล ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 ย่อมต้องได้เห็นการเปลี่ยนแปลง

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ เรย์ โบเวน ระบุว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น อย่างผลประโยชน์ที่จีนได้รับคำมั่นว่าจะเกิดขึ้นหากเข้าร่วมองค์การค้าโลกเมื่อปี 2001 ไม่เคยได้เกิดเป็นรูปธรรม โบเวนระบุว่าจีนไม่เคยเล่นตามกติกา เขามองว่าจีนเข้าร่วมความร่วมมือระดับโลกไม่ใช่เพราะต้องการเปลี่ยนตัวเอง แต่เป็นเพราะต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โน้มเอียงไปในทางที่จีนต้องการต่างหาก

คลีแมนระบุว่า หลังจากปี 2001 บริษัทสหรัฐฯจำนวนมากย้ายฐานการผลิตไปจีน เพราะค่าแรงที่ถูกกว่า แต่บริษัทเหล่านี้ต้องแลกต้นทุนราคาถูกด้วยการยอมให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท และแม้ว่าบางบริษัทไม่ได้ย้ายฐานการผลิตไปจีน แต่ก็ยังมีที่ความลับทางการค้ารั่วไหล ซึ่งปัจจุบัน FBI กำลังดำเนินการสืบสวนเรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาบริษัทสหรัฐฯที่เชื่อมโยงไปถึงจีนอย่างน้อย 1,000 กรณี รัฐบาลสหรัฐฯประมาณการณ์ว่ามูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกโจรกรรมโดยจีนในปี 2017 นั้น มีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 36.2 ล้านล้านบาท และนักวิเคราะห์มองว่านี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้สัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯขุ่นหมอง

ไม่ใช่แค่ด้านการค้า ในขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯก็กำลังพยายามปรับกลยุทธด้านความมั่นคงเพื่อตอบโต้บทบาทและอำนาจของจีนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง อดีตเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ บริก เจน โรเบิร์ต กล่าวว่าจีนเป็นเป็นความคุกคามที่จะส่งผลต่อเนื่องมากที่สุด นับแต่พรรคนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 โรเบิร์ตมองว่าจีนเป็นความคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่าที่สหภาพโซเวียตเคยเป็น จีนในฐานะที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก สามารถเข้าถึงรัฐบาลและสถาบันทั้งหลายทั่วโลกได้มากเกินกว่าที่โซเวียตเคยทำได้

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเชื่อว่าการตอบโต้การเติบโตของจีนเป็นหนึ่งในจุดประสงค์ทางการทหารของสหรัฐฯในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ความรวดเร็วในการสร้างกำลังทางทหารของจีน หรือการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ เหล่านี้คือสิ่งที่กำลังทำให้สหรัฐฯกังวล

การเป็นมหาอำนาจทางทหารของสหรัฐฯไม่ใช่เพราะขนาดของกองทัพ แต่เป็นเพราะระบบอาวุธเทคโนโลยีขั้นสูง ถ้าจีนสามารถแซงหน้าด้านนี้ได้ สหรัฐฯอาจตกอยู่ในสถานะที่ไล่ตามจีนไม่ทัน

จีนชัดเจนมาตลอดว่าต้องการที่จะเป็นผู้นำโลกในด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต อย่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และถ้าจีนเป็นผู้นำโลกในด้านนี้ แน่นอนว่าจะทำให้จีนแซงหน้าสหรัฐฯเป็นมหาอำนาจโลก

คลีแมนยังย้ำว่าการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่นอกเหนือจากการทหารนั้นยังมีความสำคัญ จีนไม่ใช่แค่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีสอดแนมและเซนเซอร์ชิปในบ้าน แต่ส่งออกเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย ซึ่งคลีแมนเชื่อว่าการต่อสู้กับอำนาจนิยมเทคโนโลยีสูง (High Tech Authoritarianism) จะกลายเป็นศูนย์กลางของบทสนทนาเกี่ยวกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

บทวิเคราะห์สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า อย่าคาดหวังว่าจุดยืนของสหรัฐฯและจีนจะเปลี่ยนแปลงในเวลาอันใกล้ และหากว่าทรัมป์จะแพ้การเลือกตั้งปีหน้า ทัศนคติของสหรัฐฯจะยังคงไม่เปลี่ยน การหารือที่แท้จริงไม่ใช่คำถามที่ว่าจะสู้กับจีนหรือไม่ แต่เป็นคำถามที่ว่าจะสู้อย่างไรดีที่สุด

related