svasdssvasds

จีนและสหรัฐฯ กับการแข่งขันในทศวรรษใหม่

จีนและสหรัฐฯ กับการแข่งขันในทศวรรษใหม่

แม้เราจะเริ่มทศวรรษใหม่ด้วยข่าวว่าจีนและสหรัฐฯสามารถบรรลุข้อตกลงระยะแรกได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าบรรยากาศแข่งขันระหว่างสองยักษ์ใหญ่จะลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า การทหาร หรือแม้แต่ด้านการทูต สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เปรียบเทียบแต่ละด้านในบทความล่าสุด

ด้านเศรษฐกิจ

ผู้อำนวยการสถาบัน Lowy ของออสเตรเลีย เฮิร์ฟ เลมาฮยู ระบุว่า จากการวิเคราะห์เศรษฐกิจจีน คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในทุกๆ ด้านภายในปี 2030 ซึ่งความสำเร็จนี้มาจากกลยุทธ์ที่วางไว้ตั้งแต่ยุคสมัยเหมา เจ๋อตง ในปี 1976 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มเปิดแขนอ้ารับระบบทุนนิยม กลายเป็นรูปแบบสังคมนิยมตามแบบฉบับจีน ทำให้ระบบคอมมิวนิสต์ของจีน ด้วยการวางแผนเศรษฐกิจ ทำให้กิจการของรัฐแข็งแกร่ง จนบางองค์กรกลายเป็นบริษัทใหญ่ของโลก

ความตึงเครียดด้านการทหาร

จีนแสดงความสนใจในการขยายอำนาจทางการทหารนอกภูมิภาคเอเชียไม่มากนัก แม้ว่าจะได้เห็นการแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการทูต แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนเปิดฐานทหารใหม่ที่เดียวเท่านั้น คือที่ประเทศจิบูตี ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ และจีนไม่ได้แข่งขันกัน ตรงกันข้าม การแข่งขันในภูมิภาคเอเชียนั้นเข้มข้น ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันและกันว่ายุแหย่การเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้ เมื่อสหรัฐฯ ส่งระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD ไปยังเกาหลีใต้ และความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและโซลเหมือนจะถูกแช่แข็ง

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางกับรัสเซีย และหวังให้จีนเข้าร่วมเจรจาเป็นสามฝ่าย แต่จีนปฏิเสธ รัฐบาลจีนระบุว่า หากสหรัฐฯ ใช้ขีปนาวุธในซีกโลกนี้ ที่หน้าบ้านจีน จีนจะถูกบังคับให้ต้องตอบโต้

ความสัมพันธ์การค้า

จีนเป็นคู่ค้าสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่าง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ เลมาฮยูระบุว่า ประเทศเหล่านี้อาจเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคง และยังคงมองว่าจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุด ดังนั้นไม่มีการแบ่งฝักฝ่ายที่ชัดเจนอีกต่อไปแล้ว

ในสหรัฐฯ เอง สหรัฐฯ และจีนมีความเชื่อมโยงกันด้านการค้ามากมาย ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ มักตำหนิเรื่องที่สหรัฐฯ ขาดดุลกับจีน กล่าวหาว่าจีนสร้างเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสัญชาติจีนมากกว่า และเริ่มสงครามการค้าในเดือนมิถุนายน 2018 เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนหลายพันล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์ระบุว่า หากสงครามการค้ายืดเยื้ออกไป ไม่เป็นผลดีต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและทั่วโลก หากสหรัฐฯ จะโจมตีจีนไปจนปี 2030 และเศรษฐกิจจีนหดตัว แต่จนถึงตอนนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบ และหดตัวลงด้วยเช่นกัน

พันธมิตรสหรัฐฯ ตกที่นั่งลำบาก 

หลายประเทศมองข้อเสนอทางการเงินของจีนเป็นตัวเลือกที่ดึงดูดใจ เพราะปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรอง สหรัฐฯ แปซิฟิก คาร์ล ชูสเตอร์ กล่าวว่า เกมของจีนคือหงายไพ่ว่าสหรัฐฯ พยายามปั้นโลกไปในทิศทางของตน แต่จีนสนใจแต่การค้าเท่านั้น จีนไม่มีสิทธิวิจารณ์รัฐบาลของประเทศนั้นๆ และอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้นๆ

พันธมิตรสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองอย่าง ออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ และนิวซีแลนด์ เป็นความเชื่อมโยงทางการทูตที่แข็งแกร่ง แต่จีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และมีส่วนเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจที่สำคัญกับ สหรัฐฯ แคนาดา และอังกฤษ

สหรัฐฯ เล่นเกมด้วยเรื่องเทคโนโลยี วิ่งเต้นประเทศต่างๆ ให้หยุดใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ของหัวเว่ย อ้างเรื่องความมั่นคง ขณะที่หัวเว่ยได้ออกมาปฏิเสธซ้ำๆ หลายครั้งว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่ารัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้อง ผลที่ตามมาคือ ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่แบนเครือข่าย 5G ของหัวเว่ย ขณะที่นิวซีแลนด์แบนบางส่วน และอังกฤษกำลังพิจารณา และรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เอง ไมค์ ปอมเปโอ ระบุว่าจะหยุดแชร์ข้อมูลข่าวกรองที่มีความอ่อนไหว หากพันธมิตรไม่ทำตาม เพราะจะทำให้เป็นหุ้นส่วนเคียงข้างกันได้ยากขึ้น

การแบ่งแยกกันของพันธมิตรสหรัฐฯ ไม่เป็นผลดีต่อความพยายามที่จะสร้างแนวหน้าสู้กับจีน ถ้าสหรัฐฯ ไม่สามารถโน้มน้าวพันธมิตรสำคัญสำคัญได้ ก็คงยากที่จะโน้มน้าวประเทศอื่นๆ

การแข่งขันด้านอวกาศ

เมื่อยานสำราจลำแรกของโลกลงจอดด้านมืดของดวงจันทร์สำเร็จในเดือนมกราคม 2019 นั่นไม่ใช่ยานจากสหรัฐฯ หรือรัสเซีย แต่เป็น ฉางเอ๋อ-4 ของจีน

การแข่งไปดวงจันทร์ครั้งนี้ต่างกับเมื่อครั้งสหรัฐฯ แข่งกับโซเวียต เป็นเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน จีนกำลังตามสหรัฐฯ มาติดๆ เมื่อนักบินอวกาศของสหรัฐฯ ลงเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกในปี 1969 องค์กรอวกาศของจีนยังไม่เคยส่งดาวเทียมขึ้นฟ้าด้วยซ้ำ

อดีตหัวหน้าใหญ่ของ NASA ชาร์ลส โบลเดน เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อรัฐบาลจีน ไชน่าเดลี่ ว่าเขาหวังว่าข้อจำกัดเรื่องการทำงานกับจีนจะถูกยกเลิก และมีความร่วมมือด้านอวกาศมากขึ้น และมองการลงจอดที่ด้านมืดของดวงจันทร์ของจีนเป็นความสำเร็จของมนุษยชาติ

related