svasdssvasds

โควิด 19 จะเปลี่ยนทิศทางโลก เอเชียจะเป็นผู้นำสร้าง ความปกติใหม่

โควิด 19 จะเปลี่ยนทิศทางโลก เอเชียจะเป็นผู้นำสร้าง ความปกติใหม่

แน่นอนว่า โลกหลังโควิด 19 จะไม่เหมือนเดิม เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ทั้งโลกหยุดชะงักพร้อมกัน ด้วยสาเหตุเดียวกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุ เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่สร้าง ความปกติใหม่ เป็นที่แรก

ความปกติใหม่ จะเริ่มที่เอเชีย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แมคคินซี ได้ทำการศึกษาเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาทั่วโลก และได้สรุป 18 เขตเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ ฟื้นฟูตัวเองได้เร็ว โดยเขตเศรษฐกิจในเอเชียนับเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ มีแนวโน้มจะฟื้นฟูตัวเองจากปัญหา เศรษฐกิจโลก จากโควิด 19 และกลายเป็นผู้นำสร้าง ความปกติใหม่ (New Normal) ให้โลก

สถาบันระบุว่า มีเขตเศรษฐกิจ ที่มีผลงานดี มีอัตราการเติบโตของจีดีพีต่อหัวต่อปีถึงหรือมากกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลาตลอด 50 ปี แม้แต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 ประเทศเหล่านี้ก็ยังกลับมาทำได้ดีในเวลาเพียง 1 ถึง 2 ปี และเตรียมตัวรับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ได้เป็นอย่างดีด้วย

เขตเศรษฐกิจที่ว่า คือ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

โควิด 19 เริ่มระบาดในภูมิภาคเอเชียก่อน แต่ก็มีตัวบ่งชี้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก่อน ทั้งการใช้กลยุทธใหม่ๆ และการนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย ยังคงต้องผจญกับแรงกระทบอย่างเต็มที่ และก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะกลับมาแพร่กระจายหนักอีก แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่จะตั้งคำถาม ว่า “ความปกติใหม่” กำลังจะเกิดขึ้นในเอเชียหรือไม่

อะไรจะกำหนดทิศทาง ความปกติใหม่

แรงสั่นสะเทือนจากการระบาดครั้งนี้ จะเปลี่ยนโลกธุรกิจ สังคม และระเบียบเศรษฐกิจโลก ในหลายมิติ อย่างการพาณิชย์แบบไร้การสัมผัสร่างกาย ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเริ่มคุ้นชิน และจะกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทานที่เผยให้เห็นในช่วงโรคระบาด เป็นโอกาสที่จะปรับปรุงในทุกๆ ด้านของกระบวนการทางธุรกิจ

ในขณะที่บริษัทในเอเชียยังเติบโต และเดินหน้าสร้างนวัตกรรมดิจิทัล สถาบันแมคคินซีคาดว่า ธุรกิจในเอเชียจะต้องเตรียมปฏิรูป และในขณะที่หลายๆ บริษัทในภูมิภาคกำลังเปลี่ยนแปลง นี่อาจกลายเป็นความปกติใหม่ของโลกครั้งแรก

ความปกติใหม่ จะถูกกำหนดด้วย 4 ปัจจัยต่อไปนี้

1.สัญญาสังคม

ในช่วงวิกฤติ รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการปกป้องประชาชน และจัดเรียงลำดับความสำคัญของทรัพยากรของชาติ ประชาชนและธุรกิจต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าจะเริ่มเกิดความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับการติดตามสังเกตการณ์ประชาชนและข้อมูลทางการแพทย์เพื่อควบคุมการระบาด อย่างในฮ่องกง ที่ใช้แอปบนโทรศัพท์เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของคนที่ต้องอยู่ระหว่างกักกันโรค

ในขณะเดียวกัน ต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น รัฐบาลกำลังพยายามรักษาความมั่นใจของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ขณะที่บริษัทต่างๆ มีความรับผิดชอบที่จะยังคงจ้างงานพนักงานต่อไป หรือกลับมาจ้างงานใหม่ เมื่อเป็นไปได้

อย่างในสิงคโปร์ พนักงานสายการบินแห่งชาติ สิงคโปร์แอร์ไลน์ส ปรับเปลี่ยนมาทำงานเป็น “Care Ambassadors” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วย โดยโครงการจะเป็นไปตามความสมัครใจ เปิดให้พนักงานส่งใบสมัครตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และจะพิจารณาตามความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล

2.อนาคตของงานและการบริโภค

วิกฤติครั้งนี้ เป็นการเร่งทุกภาคส่วนให้ปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีในทุกด้านของชีวิต จากการค้า การทำงานของธุรกิจต่างๆ ไปถึงการเรียนการสอน และการบริโภคออนไลน์ก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือสินค้าทั่วไป และมีสินค้าหลายแบรนด์ที่เพิ่มโปรโมชั่นมากมายในช่วงวิกฤติ เพื่อเรียกความสนใจผู้บริโภค

กลยุทธออนไลน์ น่าจะกลายเป็นสิ่งที่คงอยู่ถาวร กลายเป็นความปกติใหม่ และเกิดเป็นคำถามว่า องค์กรต่างๆ จะใช้ประโยชน์เทคโนโลยีออนไลน์ได้มากขนาดไหน โดยที่ผลผลิตไม่ตกลง หรือจะเพิ่มและขยายตัวการค้าปลีกกับความปกติใหม่นี้ได้หรือไม่

3.ขับเคลื่อนทรัพยากรปริมาณมาก ได้อย่างรวดเร็ว

รัฐบาลหลายประเทศได้ออกนโยบายรับมือสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรไปสู่ระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก

อย่างจีน ที่ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ส่งแพทย์หลายพันคนไปเมืองอู่ฮั่นเพื่อช่วยรับมือผู้ป่วย และใช้งบประมาณถึงราว 1.42 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการควบคุมการระบาด

หรืออย่างเกาหลีใต้  ที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่มาตรการล็อกดาวน์ แต่ให้ความสำคัญกับรูปแบบการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งมาตรการติดตาม และการแยกกักตัว การตรวจเชื้อและสังเกตการณ์อย่างกว้างขวางของเกาหลีใต้ ลดความเสี่ยงในการระบาดลงอย่างมาก

หลายประเทศในเอเชีย เพิ่มการลงทุนด้านระบบดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์ของข้อมูล อย่างสิงคโปร์ที่มี TraceTogether เกาหลีใต้ที่มี Corona 100m และอินเดียมี MyGov Corona Helpdesk

นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณอย่างได้ประโยชน์สูงสุดเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่างออสเตรเลียที่เพิ่งประกาศมาตรการชดเชยค่าแรงคนงาน หรือสิงคโปร์ที่เตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์

4.จาก โลกาภิวัตน์ สู่ ภูมิภาคาภิวัฒน์

วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น เผยให้เห็นว่าการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานเป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะสินค้าของใช้ ต่อไปนี้ โลกจะได้เห็นการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่ การผลิตและแหล่งวัตถุดิบอาจถูกย้ายให้อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น และบริษัทจะพึ่งพาซัพพลายเออร์ท้องถิ่นหรือในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนี้ จะเห็นได้ชัดมากในเอเชีย เพราะกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังโตขึ้นก็กำลังสร้างอุปสงค์การผลิต ต่อไปข้างหน้า บริษัทจำนวนมากจะเร่งย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนไปยังประเทศอื่นในเอเชีย

เรื่องราวแห่งอนาคตจะเริ่มขึ้นที่เอเชีย

นักวิเคราะห์คาดว่าจะเห็นการเติบโตที่แข็งแรงในระยะยาวในเอเชีย และภายในปี 2040 คืออีก 20 ปีข้างหน้า เอเชียจะมีสัดส่วนในการบริโภคทั่วโลกถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เราอาจย้อนกลับมามองการระบาดครั้งใหญ่นี้ ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ศตวรรษของเอเชียได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง

ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายทุกทฤษฎีที่มีมาในอดีต การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างหลังเหตุการณ์สะเทือนโลกอย่างโควิด 19 เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ผู้นำประเทศต่างๆ ตัดสินใจในตอนนี้ ไม่ใช่แต่เพียงจะมีอิทธิพลว่าประเทศและองค์กรจะฟื้นตัวจากวิกฤติได้เร็วเท่าไหร่ แต่ยังทำให้เห็นชัดเจนว่าแต่ละประเทศจะปรับตัวกับความปกติใหม่ได้เร็วแค่ไหนและมากแค่ไหนด้วย

เรียบเรียงจาก mckinsey.com

related