svasdssvasds

ถอดบทเรียนมาตรการรับมือ ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19

ถอดบทเรียนมาตรการรับมือ ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19

โควิด 19 ทำให้ทั้งโลกต้องหยุดชะงักด้วยสาเหตุเดียวกัน กระทบไปทุกภาคส่วน และที่จะกลายเป็นปัจจัยใหญ่ที่จะทำให้ด้านอื่นตามมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19 มาดูว่าแต่ละประเทศออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบอย่างไร

ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19

เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักเพราะมาตรการล็อกดาวน์ ผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลว่าถ้าแต่ละรัฐบาลไม่มีมาตรการรับมือที่เหมาะสม ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19 จะนำไปสู่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก และปัญหาสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เศรษฐกิจโลกกำลังผจญพายุครั้งใหญ่

คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดนับแต่ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงปี 1930 และองค์การการค้าโลกคาดว่า ปีนี้ ตัวเลขการค้าทุกภูมิภาคของโลกจะลดลงอย่างหนัก โดยอุตสาหกรรมส่งออกในอเมริกาเหนือและเอเชียจะถูกกระทบหนักที่สุด

รัฐบาลทั่วโลกต่าง หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อควบคุมการระบาด ปิดธุรกิจที่ “ไม่จำเป็น” และสั่งให้ประชาชนอยู่บ้านหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือนๆ ประชาชนหลายพันล้านคนทั่วโลกอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ อุตสาหกรรมหลักอย่าง การบิน การท่องเที่ยว เข้าใกล้ล้มละลาย ความหวังน้อยลงทุกที ที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว เพื่อหยุดธุรกิจล้มเหลวและการว่างงานเป็นวงกว้าง

จีน

เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน หลังต้องพบกับผลกระทบหลายด้านจาก โควิด 19 ที่มีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในหลายๆ เมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีก การก่อสร้าง และอีกมากมาย จนอัตราว่างงานในเมื่องพุ่งขึ้นทำสถิติใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์

ธนาคารกลางของจีนได้ใช้มาตรการ ลดการดำรงทรัพย์สินสภาพคล่องของธนาคาร ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจที่กำลังเดือดร้อนได้ถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งเตรียมลดอัตราดอกเบี้ย

นักวิเคราะห์ระบุว่า สัญญาณที่ต้องจับตา คือการประกาศอัตราการเติบโตต่อปีของรัฐบาลจีน ที่เลื่อนออกไปเพราะโควิด 19

ถ้าจีนกำหนดเป้าหมายถึง 6 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่ารัฐบาลได้เตรียมแผนกระตุ้นครั้งใหญ่ไว้แล้ว และถ้าจีนกำหนดเป้าหมายที่ราว 3 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า จะยังคงมาตรการปัจจุบันต่อไป นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจีนจะยกเลิกการกำหนดเป้าหมายของปีนี้ไปเสียเลย

เยอรมนี

มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัวอย่างหนักเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 อยู่ระหว่าง 3 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับว่าจะล็อกดาวน์นานแค่ไหน

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกือบ 5 แสนบริษัทในเยอรมนีได้ให้พนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการทำงานรัฐบาลระยะสั้น เพื่อป้องการการเลย์ออฟ

เพื่อรับมือ ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19 รัฐบาลเยอรมนีได้ออกมาตรการเชิงรุก ละทิ้งการสร้างสมดุลงบประมาณ จัดสรร 3.5 แสนล้านยูโร หรือราว 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เพื่อเตรียมรับเศรษฐกิจ งบนี้จะใช้ในการช่วยเหลือธุรกิจที่กำลังประสบปัญหา รวมถึงปล่อยกู้ด้วย

ญี่ปุ่น

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมส่งออกของญี่ปุ่นปีนี้ จะหดตัวไป 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะกลายเป็นตัวเลขที่แย่ที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ผลกระทบจากโรคระบาดเกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวจากการขึ้นภาษีปลายปีที่ผ่านมา

รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมรับปัญหาเศรษฐกิจด้วยโครงการเยียวยาขนาดใหญ่ มูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ข่าวหน้าหนึ่งรายงานงว่างบเยียวยาสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่นักวิเคราะห์คิดว่าตัวเลขจริงน่าจะน้อยกว่านั้น

“ไม่ใช่คำพูดที่เกินความจริงว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่น และเศรษฐกิจโลก กำลังเผชิญวิกฤติที่ใหญ่ที่สุด (นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2) ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ตาม เราจะปกป้องการจ้างงานและชีวิต” นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น กล่าวหลังรัฐบาลประกาศมาตรการช่วยเหลือ ที่รวมถึงเงินสดให้ประชาชน และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย ชะลอกำหนดจ่ายภาษี และออกคูปองเดินทางและท่องเที่ยว

ถอดบทเรียนมาตรการรับมือ ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19

สหราชอาณาจักร

ไม่ต้องสงสัยว่าสถานการณ์ระบาดทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเป็นอัมพาต ในระหว่างที่ยังเจรจาเรื่องเบร็กซิตกับสหภาพยุโรปไม่จบ ก่อนโควิด 19 จะระบาด ก็เริ่มมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพราะเบร็กซิตอยู่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า โควิด 19 น่าจะหั่นเศรษฐกิจปีนี้ออกไปถึง 5 – 10 เปอร์เซ็นต์

รัฐบาลอังกฤษเตรียมแทรกแซงครั้งใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจ มาตรการฉุกเฉินที่ออกมา มีตั้งแต่ กระทรวงการคลังเตรียมจ่ายเงินเดือน 80 เปอร์เซ็นต์ให้ลูกจ้างทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการจ้างออกครั้งใหญ่ เสนอเงินชดเชยแก่คนที่มีอาชีพอิสระที่สูญเสียรายได้ ชะลอการเสียภาษี เพิ่มสิทธิประโยชน์คนว่างงาน จัดโครงการเงินกู้ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงเตรียมเงินช่วยเหลือให้องค์กรการกุศล

ธนาคารกลางของอังกฤษได้ลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไปอยูที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ทำสถิติต่ำที่สุด และยังลดการดำรงทรัพย์สินสภาพคล่องของธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังตกลงที่จะให้รัฐบาลกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในช่วงวิกฤติ

ทั้งหมดนี้ อาจทำให้เราได้เห็นอังกฤษใช้งบประมาณถึง 4 แสนปอนด์ หรือราว 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในการพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

สหรัฐฯ

สัญญาณปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯนั้นชัดเจน เมื่อมีประชาชนถึง 17 ล้านคนลงทะเบียนรับสิทธิประโยชน์ว่างงานตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ก่อนหน้านี้ สถิติตัวเลขผู้ลงทะเบียนสูงสุดต่อสัปดาห์เกิดขึ้นเมื่อปี 1982 อยู่ที่ 695,000 คน ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่า อัตราว่างงานในไตรมาสที่สองของปีนี้ อาจพุ่งสูงขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าตอนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อช่วงปี 1930 ที่มีอัตรว่างงานที่ 25 เปอร์เซ็นต์

รัฐบาลสหรัฐฯถูกวิจารณ์ว่าจัดการสาธารณสุขผิดพลาด แต่ก็ได้รับคำชมจากการสร้างเสถียรภาพตลาดการเงินอย่างรวดเร็ว เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯระบุว่าจะทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและเสริมสภาพคล่อง

มาตรการที่ธนาคารกลางเตรียมไว้ รวมถึง ลดอัตราดอกเบี้ยจนเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์ ลดการดำรงทรัพย์สินสภาพคล่องของธนาคารไปอยู่ที่ศูนย์ ซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ ขยายวงเงินฉุกเฉินให้ธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร

ด้านงบประมาณ รัฐสภาได้ผ่านร่างงบประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ มีการจ่ายเงินสดให้ประชาชนคนละ 1,200 ดอลลาร์ เตรียมเงินกู้หลายพันล้านดอลลาร์ให้ธุรกิจต่างๆ เพิ่มสิทธิประโยชน์คนว่างงาน ให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่การแพทย์

“นี่เป็นการลงทุนระดับภาวะสงคราม” วุฒิสมาชิก มิตช์ แมคคอร์เนล กล่าว

โปรตุเกส

โปรตุเกสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมออกมาตรการเยียวยาด้วยงบประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มาตรการดังกล่าวรวมถึงวงเงินมูลค่า 3 พันล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน อย่างภาคบริการท่องเที่ยว ภาคสิ่งทอ ไม้ และธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังจัดสรร 5 พันล้านยูโรเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ในการผ่อนคลายภาษีและงบประมาณประกันสังคม

รัฐมนตรีคลังของโปรตุเกส กล่าวว่าประเทศอาจต้องชะลอการชำระหนี้เงินกู้ และกำลังเจรจากับธนาคารต่างๆ

ถอดบทเรียนมาตรการรับมือ ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19

ฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสเตรียมจัดสรรงบประมาณ 4.5 หมื่นล้านยูโรเพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็ก และยังมีงบประมาณต่างหากเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ เพราะร้านอาหารและร้านค้าต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพราะมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่พนักงานบริการที่จำเป็นอย่างการไฟฟ้า ขนส่งมวลชน และภาคการเกษตร ต้องเพิ่มชั่วโมงทำงานจาก 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็น 60 ชั่วโมง

ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือ 1,500 ยูโร นอกจากนี้ ยังมีมาตรการยกเว้นค่าเช่า ค่าแก๊ส และค่าไฟ ให้แก่ธุรกิจต่างๆ และประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระด้วย

แคนาดา

รัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ขอแคนาดา เผยงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5.64 หมื่นล้านดอลลาร์ เท่ากับ 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและผ่อนคลายมาตรการภาษี

งบประมาณดังกล่าว จะครอบคลุมการช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตร และความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่แรงงานที่ไม่มีวันลาป่วย แม้แคนาดาจะจำกัดการเดินทางเข้ามาจากสหรัฐฯ แต่ทรูโดระบุว่าจะไม่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกสิทธิประโยชน์ฉุกเฉินราว 640 ดอลลาร์ ทุก 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 15 สัปดาห์ ผ่านหน่วยงานภาษีรายได้ โดยจะช่วยเหลือคนงาน รวมถึงคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่อยู่ระหว่างกักกันโรค และป่วยจากโควิด 19 แต่ไม่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์จากประกัน และผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรหลานเนื่องจากโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กปิดให้บริการ จนไม่สามารถทำงานหารายได้

รัฐบาลแคนาดาได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินครอบครัวรายได้ต่ำและปานกลาง 12 ล้านครัวเรือน โดยจะมีเงินสดช่วยเหลือช่วงต้นเดือนพฤษภาคมราว 285 ดอลลาร์ให้รายบุคคล และราว 430 ดอลลาร์ให้คู่สมรส ขณะที่ครอบครัวที่มีบุตร จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกราว 215 ดอลลาร์ต่อบุตร 1 คน

ออสเตรเลีย

ออสเตรเลียประกาศแผนกระตุ้นการเงินมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี  ซึ่งรวมถึงเงินช่วยเงินช่วยเหลือราว 450 เหรียญสำหรับประชาชนรายได้ต่ำ ช่วยเหลือแรงงานไร้ประสบการณ์ 120,000 ตำแหน่ง และช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

ธนาคารกลางออสเตรเลีย ลดอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 0.25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นภาคการเงิน หวังช่วยภาคธุรกิจด้านกู้ยืม และแทรกแซงตลาดพันธบัตร

ถอดบทเรียนมาตรการรับมือ ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด 19

ตุรกี

ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ก่อนโควิด 19 ระบาด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.54 ล้านดอลลาร์ เรียกว่าเป็น “เกราะป้องกันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ” ชะลอการจ่ายสินเชื่อและภาษี

แผนรัฐบาลตุรกี ยังรวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์การจ่ายบำนาญ ช่วยเหลือธุรกิจ ลดภาษีมูลค่าเพิ่มค่าเดินทางโดยสารเครื่องบินในประเทศ และชะลอการจ่ายประกันสังคมให้ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมเหล็ก ยานยนต์ ภาคบริการ และอื่นๆ เป็นเวลา 6 เดือน

นอกจากนี้ ตุรกียังออกโครงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปที่อยู่คนเดียวด้วย

และนี่คือมาตรการที่รัฐบาลต่างๆ พยายามช่วยเหลือภาคประชาชน ที่หวังว่าจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และชะลอภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะหนักที่สุดในประวัติศาสตร์

เรียบเรียงจาก cfr.orgdw, thelocal และ cancada.ca

ภาพ Xinhuathai

related