svasdssvasds

ย้อนดูอดีตการ ประท้วง เหยียดผิวในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ย้อนดูอดีตการ ประท้วง เหยียดผิวในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หลายคนย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์จลาจลเมื่อปี 1992 ในเมืองลอสแองเจลิส ที่ปะทุจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ใช้ถนนซึ่งเป็นคนผิวดำ แต่หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น การ ประท้วง เหยียดผิวในสหรัฐฯเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหตุ ประท้วง ที่บานปลายเป็นจลาจลในเมืองมินนีแอโพลิส เพราะชายผิวดำเสียชีวิตระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นแค่เหตุล่าสุดของปัญหา เหยียดผิว ที่มีมาตั้งแต่ช่วงปี 1960

1965: ลอสแองเจลิส

การขอตรวจสอบบัตรประชาชนของชายผิวดำ 2 คน จุดชนวนจลาจลเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1965 ในเมืองลอสแองเจลิส เหตุการณ์บานปลายเป็น “Watts Riots” (จลาจลวัตต์) จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 34 คน และมูลค่าความเสียหายโดยรวมหลายสิบล้านดอลลาร์

ชายผิวดำ 2 คนถูกตำรวจเรียกให้หยุดเพื่อนำตัวไปสอบสวน แต่คนผิวดำหลายพันคนเข้าล้อมสถานีตำรวจ และหลังจากการเผาและปล้นสะดมอยู่ 1 สัปดาห์ ย่านที่เกิดเหตุถูกทำลายเสียหายยับเยิน

1967: นิววาร์ก

เจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว 2 นาย จับกุมและซ้อมคนขับแท็กซี่ผิวดำ หลังฝ่ากฎจราจร ทำให้เกิดจลาจลเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 1967 ในเมืองนิววาร์ก รัฐนิวเจอร์ซี เป็นเวลา 5 วันในฤดูร้อน เหตุจลาจลสร้างความเสียหายมากมาย มีผู้เสียชีวิต 26 คน และบาดเจ็บอีกถึง 1,500 คน

1967: ดีทรอยต์

จลาจลจากเหตุเหยียดผิว ในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ปี 1967 มีผู้เสียชีวิตถึง 43 คน บาดเจ็บมากกว่า 2,000 คน เหตุลามไปถึงอิลลินอยส์ นอร์ทแคโรไลนา เทนเนสซี และแมรีแลนด์

1968: การลอบสังหาร มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

หลัง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหารในเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี เหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ 125 เมือง ในเดือนเมษายน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 46 ราย บาดเจ็บอีกราว 2,600 ราย ปะธานาธิบดีในตอนนั้น ลินดอน บี จอห์สัน ถึงขนาดต้องส่งทหารไปช่วยปราบปรามเหตุจลาจล

1980: ไมอามี

การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายพ้นโทษในเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา หลังถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายผู้ใช้รถผิวดำในเดือนธันวาคมปีก่อนหน้าจนเสียชีวิต เพียงเพราะขับรถฝ่าไฟแดง ส่งผลให้เกิดเหตุรุนแรงในเมืองไมอามี ในเดือนพฤษภาคมปี 1980 จนมีผู้เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 300 คน

1992: ลอสแองเจลิส

ช่วงเวลา 3 วัน ตั้งแต่ 30 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม ปี 1992 เหตุจลาจลเกิดขึ้นในลอสแองเจลิสหลายครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 59 ราย บาดเจ็บกว่า 2,300 ราย และชนวนเหตุก็ไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว 4 นาย ถูกตัดสินให้พ้นผิด แม้จะมีภาพวิดีโอบันทึกว่า 4 คนนี้ทำร้ายผู้ขับขี่ผิวดำที่ชื่อว่า รอดนี่ คิง

เหตุรุนแรงลามไปถึงแอตแลนตา ลาสเวกัส นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และซานโฮเซ

2001: ซินซินเนติ

เหตุจลาจลในเมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ เมื่อเดือนเมายน ปี 2001 เกิดขึ้นหลังจากชายวัยรุ่นผิวดำวัย 19 ปี ทิโมธี ธอมัส ถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว เหตุความวุ่นวายทำให้นายกเทศมนตรีเมืองซินซินเนติต้องประกาศใช้เคอร์ฟิวอยู่ 4 วัน เป็นเหตุจลาจลที่รุนแรงที่สุดของเมืองในรอบ 30 ปี มีผู้บาดเจ็บ 70 คน

2014: เฟอร์กูสัน

ประท้วง จลาจล และการรับมือด้วยไม้แข็งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี ยาวนานถึง 10 วันในเดือนสิงหาคม ปี 2014 เกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวฆ่าวัยรุ่นผิวดำชื่อ ไมเคิล บราวน์ ทั้งๆ ที่เขาไม่มีอาวุธ หลังจากนั้นไม่นาน ในเดือนพฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ก่อเหตุกลับได้รับการยกเลิกข้อกล่าวหา สร้างความไม่พอใจอีกครั้ง

2015: บัลติมอร์

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2015 ชายผิวดำวัย 25 ปี เฟรดดี เกรย์ เสียชีวิตลง หลังได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ระหว่างถูกคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในรถตู้

การจับกุมได้ถูกบันทึกภาพไว้ได้ และมีการเผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นชนวนจลาจลและปล้นสะดมในบัลติมอร์ เมืองที่ประชากรราว 2 ใน 3 เป็นคนผิวดำ เมืองบัลติมอร์ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และร้องขอกำลังเสริมจากทหาร

2016: ชาร์ลอตต์

การประท้วงในเมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา เมื่อกันยายนปี 2016 เกิดขึ้นหลังจากตำรวจยิงชายผิวดำวัย 43 ปี คีธ ลามอนต์ เสียชีวิต ตำรวจระบุว่ายิงเพราะเห็นลามอนต์ถือปืน เมื่อตำรวจกำลังเดินไปที่รถของลามอนต์เพราะสังเกตุเห็นเขากำลังมวนบุหรี่กัญชา ขณะที่ครอบครัวของลามอนต์ยืนยันว่าเขาไม่มีอาวุธ เหตุจลาจลส่งผลให้ต้องมีการประกาศใช้เคอร์ฟิว และขอกำลังเสริมจากทหาร

related