svasdssvasds

“อินเดีย” เลือกปากท้อง ! คลายล็อก แม้ยอดติดโควิด-19 พุ่ง อันดับ 7 ของโลก

“อินเดีย” เลือกปากท้อง ! คลายล็อก แม้ยอดติดโควิด-19 พุ่ง อันดับ 7 ของโลก

“ปากท้องสำคัญกว่าสุขภาพ” อินเดียคลายล็อกดาวน์ เตรียมเปิดเมือง ทั้งๆ ที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งสูง

รายงานล่าสุดของ worldometers.info วันที่ 3 มิถุนายน ระบุประเทศอินเดีย มียอดผู้ติดเชื้อ 208,404 ราย สูงที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5,833 ราย แต่อินเดียก็ไม่ได้มีการขยายล็อกดาวน์เพิ่ม แต่กลับคลายล็อกและเริ่มเปิดเมือง ตามมาตรการเดิมที่วางไว้

โดยเพจ Gossipสาสุข ได้วิเคราะห์ผ่านบทความ “อินเดียหักดิบ เปิดเมือง แม้ยอดโควิดยังพุ่ง เมื่อเรื่องปากท้องสำคัญกว่าสุขภาพ" ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

“หากจำกันได้ ในช่วงแรก อินเดีย มีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อย จนคนไทยหลายคนสงสัยว่า เครื่องเทศสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโคโรนาไวรัส 2019 ด้วยซ้ำ

“แต่สุดท้ายความจริงก็ถูกเผยออกมาเรื่อยๆ ในช่วงเดือน มี.ค. เมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมากผิดปกติในหลายเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นมุมไบ เดลี หรือเชนไน

“จนในที่สุด รัฐบาลอินเดียก็พบว่า โคโรนาไวรัส 2019 มาถึงอินเดีย จนมีคนติดเชื้อได้สักระยะแล้ว เพียงแต่ขาดการตรวจเชื้ออย่างเข้มข้น เมื่อไม่ตรวจ = ไม่เจอ ก็ทำให้การประเมินสถานการณ์นั้นผิดพลาดไปทั้งหมด

“อินเดีย” เลือกปากท้อง ! คลายล็อก แม้ยอดติดโควิด-19 พุ่ง อันดับ 7 ของโลก

“โมดี เริ่มแบนการเดินทางเข้า-ออกประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. และเริ่มต้นมาตรการเข้มข้นด้วยการทดลองเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน 14 ชั่วโมง ในวันที่ 22 มี.ค. ตั้งแต่ทั่วประเทศยังมีผู้ติดเชื้อเพียง 315 ราย ซึ่งทำให้หลายคนสงสัยว่า ตัวเลขที่รัฐบาลมีในมือ น่าจะแย่กว่าที่คนทั่วประเทศคิดไว้มาก

“ในที่สุด วันที่ 24 มี.ค. อินเดียก็ประกาศล็อกดาวน์ขั้นเด็ดขาด ปิดระบบขนส่งมวลชนทุกอย่าง รวมถึงรถไฟ ซึ่งอินเดียมีเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อลดการเคลื่อนย้ายประชากร และจำกัดวงการระบาดให้อยู่เฉพาะในพื้นที่เมือง อย่างน้อย 21 วัน

“ถือเป็นการล็อกดาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่รัฐบาลอินเดีย อาจจะใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดในการประกาศล่วงหน้าด้วย เพราะคนอินเดียมีเวลาเตรียมตัวเพียง 4 ชั่วโมง โดยโมดีให้เวลาถึงแค่เที่ยงคืน ก่อนหยุดเคลื่อนย้ายทุกอย่าง

“ผลที่ตามมาของการล็อกดาวน์สำหรับประเทศที่มีประชากร 1,300 ล้านคน และมีประชากรกว่า 200 ล้านคนอยู่ในภาวะยากจน และ แออัดในเขตเมืองนั้น กลายเป็นความปั่นป่วนครั้งใหญ่

“แรงงานยากจนหลายร้อยล้านคนต้องเดินเท้าอย่างแออัดเพื่อกลับบ้านตัวเอง หลังจากตกงานทันทีด้วยคำสั่งล็อกดาวน์ มีรายงานว่าหลายคนต้องเดินไกลนับ 100 กิโลเมตร เพราะระบบขนส่งมวลชนปิดหมด

“แน่นอน ด้วยประชากรมากขนาดนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ไม่สามารถปิดกั้นตามคำสั่งของรัฐบาลได้ทั้งหมด ในที่สุดการเคลื่อนย้ายประชากรหลังล็อกดาวน์ ก็เป็นการพาโรคระบาดกลับไปยังถิ่นพำนัก ชุมชนแออัด ซึ่งไม่สามารถเว้นระยะห่างได้อยู่แล้ว หลายแห่งเริ่มมีรายงานผู้ติดเชื้อ รวมถึงชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย อย่างย่านทราวีในมุมไบ

“ที่สำคัญคืออินเดียเองมีปัญหาด้านสาธารณสุขที่หนักหน่วงอยู่แล้ว โดยปกติคนอินเดียในพื้นที่แออัดต้องรอคิวหลายวันเพื่อเข้าพบแพทย์แต่ละครั้ง และถือเป็นประเทศที่มีเหตุเผชิญหน้ารุนแรง ระหว่างหมอ และคนไข้เป็นประจำ แม้นายกฯ โมดี มีแผนจะนำอินเดียเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ทุกคนรักษาฟรี แต่เป้าหมายล่าสุด ก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริง

“อินเดีย” เลือกปากท้อง ! คลายล็อก แม้ยอดติดโควิด-19 พุ่ง อันดับ 7 ของโลก

“หากเกาหลีใต้ใช้วิธีคือ ตรวจโรค – กักกันโรค – สอบสวนเส้นทางโรค – และรักษาโรค เพื่อเอาชนะการระบาดของโรคนี้ อินเดียเองดูจะมีปัญหาทุกขั้นตอน การตรวจโรคนั้นไม่ง่ายเลย สำหรับพื้นที่ชุมชนแออัด ประชากรหนาแน่น เพราะเจ้าหน้าที่ในการคัดกรอง – เครื่องมือในการคัดกรองเองขาดแคลนอย่างเห็นได้ชัด

“เดือน มี.ค. ถึงกลางเดือน เม.ย. อินเดียตรวจได้ราวหลักหมื่นเท่านั้น ทำให้เจอผู้ติดเชื้อน้อย และรัฐบาลก็คิดว่าการล็อกดาวน์เฟสแรกประสบความสำเร็จ ทั้งที่ความเป็นจริงมาจากการตรวจน้อย มากกว่า

“ขณะเดียวกัน ระยะห่างระหว่างประชาชนกับโรงพยาบาลในอินเดียนั้นค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยหลายคนเลือกที่จะป่วยอยู่ที่บ้าน แทนการไปพบแพทย์

"อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของรัฐบาลอินเดีย กลับมองว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 กลับไม่ได้แย่อย่างที่กลัวกันแต่แรก

“แม้อินเดีย จะมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มในอัตราที่น่ากังวล แต่ก็เป็นเพราะการระดมตรวจเชื้อเพิ่มจนได้มากกว่าวันละ 2-3 แสนคนต่อวัน และอัตราตายต่อผู้ติดเชื้อก็ค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 3% เท่านั้น เพราะฉะนั้น ผลเสียต่อเศรษฐกิจ น่าจะใหญ่กว่าโรคระบาด

“แต่ จาค็อบ จอห์น นักระบาดวิทยา แสดงความกังวลว่า อินเดียเองก็มีความเปราะบางในระบบการเก็บข้อมูล และน่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอีกมากที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การเก็บสถิติของรัฐ

“จอห์นเชื่อว่า กราฟของอินเดีย ยังไม่สูงที่สุด และกว่าจะพีค ก็ล่วงเข้าไปถึงเดือน ก.ค. หรือเดือน ส.ค. และเดาใจรัฐบาลว่า การยอมผ่อนปรนล็อกดาวน์รอบนี้ เพราะรู้ว่าการล็อกดาวน์โดยปล่อยให้มี รูรั่วจำนวนมาก ไม่น่าจะมีผลอะไรกับการควบคุมโรค ที่สำคัญคือได้เห็นผลกระทบกับปากท้องของคนยากจน ที่ไม่มีงานทำอย่างมหาศาล

“อาวินด์ เคจรีวัล มุขมนตรีแห่งเดลี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซี ระบุว่า อินเดีย ได้ใช้ช่วงเวลาล็อกดาวน์ในการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน และขณะนี้ถือว่าพร้อมมากแล้ว จึงได้เดินทางเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการเปิดเมือง

“รัฐบาลอินเดียเองก็แถลงความสำเร็จของล็อกดาวน์ว่า สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ถึง 3 แสนคน และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากถึง 7.1 หมื่นราย

“แต่ที่ยังไม่ได้พูดถึงและยังประเมินไม่ได้ก็คือ ในอนาคต อินเดียจะมีผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตมากขึ้นเท่าไหร่ จากการเปิดเมืองมากขนาดนี้

“เพราะด้วยจำนวนประชากร และพฤติกรรมการใช้ชีวิตในอินเดีย น่าจะต้องว่ากันไปยาวๆ แต่หากจะให้กลับไปปิดเมือง ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว เพราะผลเสียทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปากท้องของคนรากหญ้านั้นมากเกินไป

“ทั้งหมดนี้ ประเมินกันได้เลยว่า นักท่องเที่ยวอินเดียที่เคยเป็นหนึ่งในตัวชูโรงของรายได้จากการท่องเที่ยวบ้านเรา น่าจะหายไปอีกนาน หากยอดผู้ติดเชื้อในอินเดียยังคงเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ และรัฐบาลอินเดีย จะเลือกใช้มาตรการผ่อนปรนแบบนี้

"ดีไม่ดี บางทีอินเดีย อาจบรรลุ Herd Immunity หรือการมี ภูมิคุ้มกันหมู่ของประชากร เป็นที่แรกของโลก ก็เป็นได้"

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

related