svasdssvasds

4 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องแก้ปัญหา เหยียดผิว และประณามความรุนแรง

4 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องแก้ปัญหา เหยียดผิว และประณามความรุนแรง

คาร์เตอร์ คลินตัน บุช และโอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเห็นเรื่องการประท้วง เรียกร้องการแก้ปัญหา เหยียดผิว และประณามความรุนแรงว่าไม่ใช่วิธีแก้

จิมมี คาร์เตอร์

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จิมมี คาร์เตอร์ ได้ออกมาให้ความเห็นกับการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศขณะนี้ หลัง จอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิตในการดูแลของตำรวจ จนจุดชนวนการประท้วงเรื่อง เหยียดผิว และเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง

คาร์เตอร์ ระบุว่า เขาและภรรยารู้สึกเจ็บปวดกับความอยุติธรรมทางเชื้อชาติที่น่าเศร้า และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาทั่วประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

“เราอยู่ข้างครอบครัวของเหยื่อ และทุกคนที่รู้สึกหมดหวังกับการแบ่งแยกสีผิวและความโหดร้าย” คาร์เตอร์ระบุว่า แต่ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ ไม่ใช่ทางแก้

คาร์เตอร์ได้นำส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่เขากล่าวเมื่อเข้ารับตำแหน่งเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้วมาพูดอีกครั้ง “คนที่มีอำนาจ มีอภิสิทธิ์ และมีมโนธรรม ต้องลุกขึ้นพูดว่า “ไม่เอาอีกต่อไปแล้ว” กับระบบยุติธรรมและตำรวจที่เลือกปฏิบัติสีผิว ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างคนขาวและคนดำ และการกระทำของรัฐบาลที่เป็นบ่อนทำลายประชาธิปไตยที่เป็นเอกภาพของเรา

บารัก โอบามา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม บารัก โอบามา เป็นอดีตประธานาธิบดีคนแรกที่ออกมาแสดงท่าทีกับเรื่อง เหยียดผิว และการประท้วง ระบุว่า “นี่จะเป็นเรื่องปกติไม่ได้ถ้าเราต้องการให้ลูกหลานของเราโตขึ้นมาในประเทศที่ยึดตามอุดมคติที่สูงส่ง เราสามารถและเราต้องดีกว่านี้”

หลังจากนั้น โอบามายังเผยแพร่คำแถลงถึงเหตุการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ย้ำว่า ช่วงเวลาต่อไปนี้สามารถจะเป็น “จุดเปลี่ยนที่แท้จริง” ของอเมริกาได้ ถ้าสามารถเปลี่ยนความโกรธเคืองที่สมเหตุสมผลนี้เป็นการกระทำที่ มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และสันติ” และวันพุธที่ผ่านมา โอบามากล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ซับซ้อน น่ากลัว และไม่แน่นอน แต่ก็เป็นโอกาสที่ปลุกผู้คนตื่นขึ้นมารับรู้ระบบ เหยียดผิว ที่ซ่อนอยู่

“ประเทศนี้ก่อตั้งขึ้นจากการประท้วง...เราเรียกวันว่าการปฏิวัติแบบอเมริกัน” โอบามากล่าวทิ้งท้าย

จอร์จ ดับเบิลยู บุช

อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการประท้วงนี้เช่นกัน ระบุว่า “นี่เป็นเวลาที่เราต้องรับฟัง เป็นเวลาที่อเมริกาต้องสำรวจความผิดพลาดที่น่าเศร้าของเรา

บุชกล่าวว่า ความเข้มแข็งคือการออกมาเดินขบวนเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่า แต่โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ท่ามกลางเหตุการณ์ที่น่าเศร้าที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ทำให้เกิดเป็นคำถามที่ควรจะถามมานานแล้ว ว่า “เราจะยุติการเหยียดผิว ที่เป็นระบบอยู่ในสังคมของเราได้อย่างไร” บุชระบุว่า วิธีเดียวที่จะได้เห็นแสงที่แท้จริง คือต้องฟังเสียงของคนที่ได้รับความเจ็บปวดและของคนที่กำลังเศร้าโศก คนที่พยายามปิดปากเสียงเหล่านั้น “ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของอเมริกา”

บิล คลินตัน

ขณะที่ อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้ออกแถลงการณ์ตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าไม่มีใครสมควรตายอย่างที่เกิดขึ้นกับ จอร์จ ฟลอยด์ “เราต้องมองเห็นว่าแต่ละคนสมควรได้รับ ชีวิต เสรีภาพ ความเคารพ ศักดิ์ศรี และความเชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่เท่าเทียมกัน

คลินตันตั้งคำถามว่า ถ้าฟลอยด์เป็นคนขาวที่ถูกใส่กุญแจมือ และนอนอยู่กับพื้น เขาจะยังมีชีวิตอยู่วันนี้หรือไม่ ทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และเราจะทำอะไรได้เพื่อให้แน่ใจว่าทุกชุมชนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พวกเขาสมควรได้รับ

สหรัฐฯ ประธานาธิบดี

การประท้วง เหยียดผิว ที่จุดชนวนด้วยการตายของ จอร์จ ฟลอยด์

จอร์จ ฟลอยด์ ไม่ใช่ชายผิวดำรายแรกที่เสียชีวิตเพราะความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว ก่อนหน้านี้ การประท้วงเกิดขึ้นในอเมริกาหลายต่อครั้งในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุจลาจล และหลายครั้งที่การประท้วงแผ่ขยายไปเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และรุนแรงจนต้องประกาศเคอร์ฟิว พร้อมเรียกกำลังสำรองออกมาช่วยควบคุมสถานการณ์

ย้อนดูอดีตการ ประท้วง เหยียดผิวในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หลายคนย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์จลาจลเมื่อปี 1992 ในเมืองลอสแองเจลิส ที่ปะทุจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ใช้ถนนซึ่งเป็นคนผิวดำ แต่หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น การ ประท้วง เหยียดผิวในสหรัฐฯเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุ ประท้วง ที่บานปลายเป็นจลาจลในเมืองมินนีแอโพลิส เพราะชายผิวดำเสียชีวิตระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นแค่เหตุล่าสุดของปัญหา เหยียดผิว ที่มีมาตั้งแต่ช่วงปี 1960

ไทม์ไลน์: การตายของ จอร์จ ฟลอยด์ จุดชนวน ประท้วง จนกลายเป็นจลาจล

การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ในสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม นำไปสู่การ ประท้วง ที่เขย่ามินนีแอโพลิสและอีกหลายเมืองทั่วประเทศ เมื่อคนออกมารวมตัวกันเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำที่ตำรวจใช้ความรุนแรงระหว่างจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ และการประท้วงก็บานปลายเป็นจลาจล

related