svasdssvasds

เข้าใจพื้นหลังและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการประท้วง เหยียดผิว ในสหรัฐฯ

เข้าใจพื้นหลังและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการประท้วง เหยียดผิว ในสหรัฐฯ

เป็นเวลา 10 วันแล้วที่เราเห็นการประท้วง เหยียดผิว ที่ทั่วสหรัฐฯ ที่มีชนวนเหตุมาจากการเสียชีวิตของชายผิวดำชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ เพราะตำรวจใช้ความรุนแรง และนี่คือปัจจัยว่าทำไมการประท้วงครั้งนี้ถึงเต็มไปด้วยความโกรธเคืองและความเศร้า

การประท้วง เหยียดผิว ทั่วสหรัฐฯในรอบเกือน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลัง จอร์จ ฟลอยด์ ถูกตำรวจเมืองมินนีแอโพลิสเข้าจับกุมเมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม ข้อหาใช้ธนบัตรปลอมเพื่อซื้อบุหรี่ เขาเสียชีวิตหลังถูกเจ้าหน้าที่ใช้เข่ากดคออยู่นานกว่า 8 นาที แม้จะร้องว่าเขาหายใจไม่ออก

ตำรวจรับมือความไม่สงบจากเหตุจลาจลที่เกิดทั่วสหรัฐฯด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ขู่ว่าจะใช้กำลังทหาร

สำนักข่าวบีบีซีเผยแพร่บทวิเคราะห์ของนักข่าวอาวุโส อลิซ คัดดี้ ระบุว่า มีปัจจัย 5 ด้านที่จะทำให้เข้าใจการประท้วงครั้งนี้ได้มากขึ้น

ความรุนแรงของตำรวจและระบบยุติธรรม

ที่ผ่านมา มีข่าวการเสียชีวิตของชายผิวดำเพราะเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายในสหรัฐฯมากมาย และเจ้าหน้าที่ที่ก่อเหตุก็มักไม่ได้รับโทษในคดีอาชญากรรม

ผู้ประท้วงคนหนึ่งในกรุงวอชิงตัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาเหนื่อยใจที่ได้ยินเรื่องคนผิวดำเสียชีวิต และเขา “เหนื่อยที่จะต้องหวาดกลัวเพียงแค่ถูกตำรวจเรียกให้หยุด

การตายของ จอร์จ ฟลอยด์ ทำให้คนนึกถึงการเสียชีวิตของชายผิวดำชื่อ เอริก การ์เนอร์ ในปี 2014

การ์เนอร์ พ่อลูก 6 ถูกจับกุมในเมืองนิวยอร์ก ต้องสงสัยว่าขายบุหรี่ผิดกฎหมาย มีผู้เห็นเหตุการณ์บันทึกภาพวิดีโอขณะจับกุมไว้ได้ เห็นว่าการ์เนอร์ถูกใส่กุญแจมือ และยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล็อกคอเอาไว้ วิดีโอได้ยินการ์เนอร์พูดว่า “ฉันหายใจไม่ออก” ก่อนที่จะหมดสติ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม คณะลูกขุนกลับตัดสินใจไม่ต้องข้อหาฆาตกรรมกับเจ้าหน้าตำรวจคนดังกล่าว

การเสียชีวิตของการ์เนอร์จุดประกายการประท้วงทั่วสหรัฐฯ กับวลีที่ได้ยินผู้ชุมนุมตะโกนกึกก้อง “ฉันหายใจไม่ออก” ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องไม่เคยถูกตั้งข้อหาอาชญากรรม และถูกให้ออกจากงาน 5 ปีต่อมา

อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา กล่าวว่าการประท้วงเพราะการเสียชีวิตของฟลอยด์นั้นเป็น ความขุ่นเคืองที่สมเหตุสมผลและจริงใจ กับความล้มเหลวกว่าทศวรรษในการปฏิวัติตำรวจและระบบยุติธรรม

ข้อมูลจากสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ในปี 2019 ที่ผ่านมา จากข้อมูลกรณีเสียชีวิตจากการยิงของเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 1,000 เหตุ แต่ชาวอเมริกันผิวดำที่เป็นสัดส่วนประชากรเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐฯ กลับมีอัตราการเสียชีวิตจากการยิงถึงกว่า 23 เปอร์เซ็นต์

ชาวอเมริกันผิวดำที่ถูกจับกุมเพราะใช้สารเสพติดป็นอัตราที่สูงกว่าคนผิวขาวมาก แม้ว่าการสำรวจจะพบว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตราการใช้สารเสพติดพอๆ กัน

ปี 2018 มีชาวอเมริกันผิวดำถูกจำคุกคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 30 เปอร์เซ็นต์  นั่นหมายความว่าชาวอเมริกันผิวดำทุก 100 คน จะมี 1 คนที่อยู่ในเรือนจำ ในขณะที่สัดส่วนของคนผิวขาวอยู่ที่ 500 คนต่อ 1 คน

เหตุรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นในที่ลับ

การเสียชีวิตของฟลอยด์เกิดขึ้นในที่สาธารณะ ในขณะที่ช่วงนั้นมีหลายข่าวในสหรัฐฯที่ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่อง เหยียดผิว เป็นวงกว้าง อย่างกรณีที่ผู้หญิงผิวขาวเรียกตำรวจให้มาจับ คริสเตียน คูเปอร์ ชายผิวดำในสวนสาธารณะ ระบุว่าเขาขู่เอาชีวิตเธอ ทั้งๆ ที่ชายคนนั้นแค่ขอให้ผู้หญิงใส่เชือกจูงสุนัขของเธอ

หลังจากนั้น คูเปอร์ได้ให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ และได้พูดถึงกรณีที่ชายผิวดำวัย 25 ปี ถูกยิงเสียชีวิตด้วยชายผิวขาว 2 คน ขณะที่ออกมาวิ่งออกกำลังกายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเหตุการณ์นั้นก็มีคนบันทึกวิดีโอไว้ได้ด้วย และตำรวจใช้เวลาถึง 2 เดือนกว่าที่จะตั้งข้อหาผู้ต้องสงสัย

คูเปอร์กล่าวว่า เราอยู่ในยุคที่ชายผิวดำถูกยิงเพราะสิ่งที่คนทึกทักเอาเองเกี่ยวกับคนผิวดำ

การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจสังคม และซ้ำด้วยโควิด 19 ระบาด

คัดดี้ระบุว่า การแบ่งแยกสีผิวในสังคมอเมริกา ยังเห็นได้จากการแบ่งโซนที่อยู่อาศัย บริการสุขภาพ และการจ้างงาน

จากสถิติของปี 2016 พบว่า “ความมั่งคั่งสุทธิ” ของครอบครัวคนผิวขาวในสหรัฐฯสูงเกือบ 10 เท่าของครอบครัวคนผิวดำ และคนผิวดำส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมบริการ และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น

ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนที่ทำให้คนผิวดำในอเมริกาได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 และข้อมูลของเมืองนิวยอร์กระบุว่า ชาวอเมริกันผิวดำมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนผิวขาวมาก

นอกจากนี้ เรื่องปัญหาการว่างงานในช่วงโรคระบาด แน่นอนว่ามีสูงกว่าในประชากรผิวดำ อย่างฟลอยด์ที่ตกงานจากการเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานบันเทิองยามค่ำคืน เพราะการล็อกดาวน์

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันบร๊กกิ้งส์ อังเดร เพอร์รี กล่าวว่า ไวรัสโคโรนาไม่ได้แบ่งแยก แต่พื้นที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ และนโยบายสาธารณสุขต่างหาก (ที่แบ่งแยก)”

“การเหยียดด้วยสิ่งแวดล้อม บ้านที่ราคาสูงเกิน การขาดโอกาสในการทำงาน ความยากจน และสาธารณสุขที่บกพร่อง เป็นรากฐานของเงื่อนไขทางสังคม อิทธิพลของนโยบาย ที่ทำให้คนผิวดำและย่านของพวกเขามีความเสี่ยง” เพอร์รีกล่าว

ในเมืองมินนีแอโพลิสที่ฟลอยด์เสียชีวิต และเมืองเซ็นต์พอลที่อยู่ติดกัน มีชาวผิวดำอยู่ในฐานะยากจนถึง 32 เปอร์เซ็นต์ ย่านที่อยู่อาศัยในเมืองนี้แบ่งแยกอย่างมาก และเป็นพื้นที่ที่มีอัตราส่วนคนผิวดำเป็นเจ้าของบ้าน ต่ำที่สุดในประเทศ

“ทัศนคติที่ทำให้ตำรวจคุกเข่าบนคอคนผิวดำ เป็นทัศนคติเดียวกับคนที่อยู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีส่วนทำให้ช่องว่างระหว่างการเป็นเจ้าของบ้านของคนผิวดำและผิวขาวต่างกันถึง 46 ถึง 79 เปอร์เซ็นต์” เพอร์รีกล่าวเพิ่มเติม

ปัจจัยที่ชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์

การเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ เริ่มต้นด้วยการประท้วงเพื่อสิทธิผู้หญิงทั่วประเทศในปี 2017 ตามมาด้วยการประท้วงเรื่องเหยียดผิวครั้งนี้ แม้ว่าเรื่องเหยียดผิวจะมีเหตุผลมาจากความอยุติธรรมระหว่างสีผิวและความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ไม่น่าแปลกใจ หากทรัมป์จะรู้สึกขุ่นใจเป็นการส่วนตัว

ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกาเหนือ แอนโทนี เซอร์เชอร์ ระบุว่า ทรัมป์มองการประท้วงว่าเป็นสิ่งบั่นทอนการเป็นประธานาธิบดีของเขา ทั้งครั้งที่ตอนเข้ารับตำแหน่ง และครั้งนี้ที่ก่อนจะถึงเลือกตั้งใหญ่ในอีกไม่กี่เดือน

เซอร์เชอร์วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การเมืองของทรัมป์ มีอิทธิพลต่อวิธีที่ทรัมป์รับมือการประท้วง ทรัมป์ระบุว่าจะนำความมีระเบียบเรียบร้อยของสังคมกลับคืนมา

แม้ว่ารากเหง้าของการประท้วงที่จุดชนวนด้วยการตายของฟลอยด์จะเป็นเหตุสะสมมาตั้งแต่ก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การกระทำและคำพูดหลายอย่างของทรัมป์กลับกลายเป็นการเติมเชื้อไฟ

ยุทธาภิวัฒน์ตำรวจ

การประท้วงที่เกิดจากการตายของฟลอยด์ ทำให้คนเกิดความสนใจกับการใช้ยุทโธปกรณ์ของทหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ คัดดี้ระบุว่า แม้ภาพยานพาหนะกองทัพใช้ในการควบคุมฝูงชนจะทำให้หลายๆ คนตกใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสหรัฐฯ

ในช่วงปี 1990 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เริ่มโครงการ 1033 ที่อนุญาตให้นำอุปกรณ์ของทหารไปให้ตำรวจใช้ได้ แต่มีเป้าหมายหลักที่ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดและผู้ก่อการร้าย ปัจจุบัน มีหน่วยงานรักษากฎหมายถึง 8,000 หนวยทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้

อุปกรณ์กองทัพที่โอนถ่ายไปให้เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้โครงการนี้ เพิ่มมากสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา อย่างปี 2015 มีการจัดส่งอุปกรณ์ทหารมูลค่าถึง 5 พันล้านดอลลาร์ไปยังหน่วยงานรักษากฎหมายในโครงการทั่วประเทศ

ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก พอล โพสต์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการตอบโต้จลาจลในอิรักและอัฟกานิสถาน ฝั่งผู้ผลิตเริ่มพัฒนาอาวุธที่เริ่มใช้ได้หลายทางมากขึ้น คือใช้ได้กับการต่อต้านจลาจล และใช้ได้กับการรักษากฎหมายในเมือง

อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้สั่งห้ามการโอนถ่ายอุปกรณ์บางชนิด หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ไม้แข็งเกินไปกับการรับมือการประท้วงที่เมือง เฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี เมื่อวัยรุ่นผิวดำที่ไม่มีอาวุธ ถูกฆ่าตายโดยเจ้าหน้าที่ผิวขาวในปี 2014

แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ยกเลิกข้อจำกัดที่โอบามาวางไว้ เมื่อปีที่เขาเข้ารับตำแหน่ง

ยุทโธปกรณ์ที่สามารถโอนถ่ายกันได้ภายใต้โครงการ 1033 รวมไปถึง อากาศยาน รถหุ้มเกราะ และหมวกนิรภัยกันกระสุน

โพสต์กล่าวว่า การใช้อุปกรณ์ทหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่า แคมเปญต่อต้านจลาจลที่สหรัฐฯใช้ในต่างประเทศ ก็มีอิทธิพลกับนโยบายความมั่นคงในประเทศ

ไทม์ไลน์: การตายของ จอร์จ ฟลอยด์ จุดชนวน ประท้วง จนกลายเป็นจลาจล

การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ในสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม นำไปสู่การ ประท้วง ที่เขย่ามินนีแอโพลิสและอีกหลายเมืองทั่วประเทศ เมื่อคนออกมารวมตัวกันเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำที่ตำรวจใช้ความรุนแรงระหว่างจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ และการประท้วงก็บานปลายเป็นจลาจล

ย้อนดูอดีตการ ประท้วง เหยียดผิวในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หลายคนย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์จลาจลเมื่อปี 1992 ในเมืองลอสแองเจลิส ที่ปะทุจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ใช้ถนนซึ่งเป็นคนผิวดำ แต่หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น การ ประท้วง เหยียดผิวในสหรัฐฯเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุ ป ระท้วง ที่บานปลายเป็นจลาจลในเมืองมินนีแอโพลิส เพราะชายผิวดำเสียชีวิตระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นแค่เหตุล่าสุดของปัญหา เหยียดผิว ที่มีมาตั้งแต่ช่วงปี 1960

related