svasdssvasds

นายกฯ ยินดีโคลอมเบียน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" แก้ปัญหาพื้นที่ปลูกพืชเสพติด

นายกฯ ยินดีโคลอมเบียน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" แก้ปัญหาพื้นที่ปลูกพืชเสพติด

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

ไทยยินดี “โคลอมเบีย” น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แก้ปัญหาพื้นที่ปลูกพืชเสพติด ชี้! “โครงการพัฒนาดอยตุง” เป็นต้นแบบของนานาชาติ ย้ำ! รัฐบาลมุ่งขจัดยาเสพติดอย่างจริงจัง วอนทุกภาคส่วนร่วมมือ

วันที่ 27 ส.ค. 60 – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้รับทราบว่า ประเทศโคลอมเบียจะน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของตน โดยคณะผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลโคลอมเบียได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาทางเลือกที่ “โครงการพัฒนาดอยตุง” และโครงการปลูกป่าสร้างคน รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย จ.เชียงราย ซึ่งสนับสนุนการนำศาสตร์พระราชาไปใช้ในการแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกพืชเสพติด

 

 

“โคลอมเบียประสบกับปัญหาการปลูกพืชโคคา ซึ่งนำไปสกัดเป็นสารเสพติด ที่เรียกว่า โคเคนกว่า 150,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 900,000 ไร่ จึงต้องการนำแนวทางต้นแบบของ ‘โครงการพัฒนาดอยตุง’ ที่นำ ‘ศาสตร์พระราชา’ ไปประยุกต์ใช้พัฒนาพื้นที่ โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเสพติดให้เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยปรับเปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นเป็นพืชชนิดอื่น หรือประกอบอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ดีกว่าและไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จนได้รับยกย่องในระดับนานาชาติจากสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)”

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข โดยเปลี่ยนมุมมองใหม่ใช้การสาธารณสุขนำ เน้นการดูแลสุขภาพผู้ป่วย คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และควบคุมผู้ติดยาให้ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม รวมทั้งจัดทำแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน ชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติด ขับเคลื่อนด้วยกลไกประชารัฐ ดำเนินการกับกลุ่มผู้ค้า ผู้ผลิต และเครือข่ายยาเสพติด และปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดให้เหลือฉบับเดียว เพื่อให้มีการบังคับใช้ที่เชื่อมโยงสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“รัฐบาลน้อมนำ ‘ศาสตร์พระราชา’ เป็นหลักในการทำงาน และสนับสนุนโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และขจัดความยากจนทุกรูปแบบ รวมถึงโครงการพัฒนาดอยตุงที่หลายประเทศได้มาศึกษาดูงาน และนำแนวทางการดำเนินงานไปปรับใช้ เช่น หมู่บ้านหย่องข่า สหภาพเมียนมา จ.บัลคห์ สาธารณรัฐอัฟกานิสถาน และ จ.อาเจะห์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นต้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยุติปัญหายาเสพติดในประเทศ ด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และแจ้งข้อมูลเบาะแสที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่”

 

related