svasdssvasds

เลือกตั้ง 62 : เปิดไทม์ไลน์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

เลือกตั้ง 62 : เปิดไทม์ไลน์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

ข้ามพ้นวันชี้ชะตาประเทศไทยกันไปแล้ว กับการใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือก ส.ส.คนที่ใช่ หรือพรรคที่ชอบ ลำดับจากนี้ไปคงเป็นกระบวนการการได้มาซึ่งปลายทางคือรัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทยนั่นเอง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุไว้ตามมาตรา 268 กำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ(4) มีผลบังคับใช้ นั่นก็หมายความว่า กกต. มีระยะเวลา 150 วันในการจัดการเลือกตั้ง รวมถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งนับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะไปสิ้นสุดที่วันที่ 9 พ.ค. 2562 ที่จะถึงนี้

ดังนั้น ก่อนถึงวันที่ 9 พ.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อย ร้อยละ 95 เพื่อที่จะดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 ที่ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ เก้าสิบห้าของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้ว หากมีความจําเป็นจะต้องเรียกประชุมรัฐสภา ก็ให้ดําเนินการเรียกประชุมรัฐสภาได้ โดยให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ แต่ต้องดําเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจํานวนตามมาตรา ๘๓ โดยเร็ว ในกรณีเช่นนี้ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวอยู่ในตําแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่

ในกรณีนี้เมื่อประกาศรับรองผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 มาแล้ว มาตรา 121 ระบุไว้ว่า ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ซึ่งหากนับตามวันก็ไม่น่าจะเกินวันที่ 24 พ.ค. ประเทศไทยจะมีการประชุมรัฐสภานัดแรกเกิดขึ้น

โดยในอดีตที่ผ่านมานั้น หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นกระบวนการขั้นตอนเปิดประชุมรัฐสภาจะต้องผ่าน รัฐพิธี ก่อน ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ซึ่งระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดําเนินมาทรงทํารัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจําปี ครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทํารัฐพิธีก็ได้

ในอดีตที่ผ่านมาหลังการประกอบรัฐพิธีเสร็จสิ้น ก็มักจะต่อด้วยการประชุมรัฐสภาไปด้วยเลย เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกประธานและรองประธานรัฐสภา โดย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นคนเชิญ ส.ส.ที่มีอวุโสสูงสุด ขึ้นทำหน้าที่ประธานในการโหวตเลือกประธานสภา ดังเช่นครั้งหนึ่งในอดีตที่เคยปฏิบัติกันมา

ภายหลังจากได้ประธานรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และเข้าทำหน้าที่ ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวนั้นคือการกำหนดวันนัดประชุมสภาฯครั้งที่2 เพื่อให้สมาชิกร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามหลักการที่กำหนดไว้ต่อไป

ดังนั้นหากเป็นไปตามที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ภายในเดือน มิถุนายน 2562 ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั่นเอง

เลือกตั้ง 62 : เปิดไทม์ไลน์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

related