svasdssvasds

ทำความรู้จักภาวะซึมเศร้า

ทำความรู้จักภาวะซึมเศร้า

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะมีวันที่รู้สึกไม่ค่อยร่าเริงหรือเบื่อหน่าย แต่ถ้าอารมณ์เหล่านี้ติดค้างอยู่กับคุณข้ามวันข้ามคืน นี่อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าได้ เมื่อมีอาการหนักๆ ผู้ป่วยอาจมีความเศร้าโศกหรือมีความเฉยชาอย่างมาก ไม่แยแสโลก เกิดขึ้นพร้อมกับอาการอื่นๆ ถ้ารุนแรงมากย่อมจะกระทบกับชีวิตประจำวัน โรคซึมเศร้าไม่ใช่สัญญาณว่าคุณเป็นคนอ่อนแอหรือมีบุคลิกลักษณะด้านลบ แต่มันเป็นปัญหาสุขภาพ และเป็นสภาวะทางการแพทย์ที่รักษาได้

โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่าพันธุกรรมมีบทบาทกับอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ หากคุณมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคซึมเศร้า ความเสี่ยงที่คุณจะเป็นย่อมมากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องเพศที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ส่วนสัญญาณอื่นๆมีอะไรบ้าง อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 9 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

วงการแพทย์ยังไม่สามารถเจาะจงสาเหตุที่แน่นอนของโรคซึมเศร้าได้ แต่ทฤษฎีที่เชื่อถือกันมากคือเรื่องของโครงสร้างและการทำงานของสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลง วงจรสมองที่ควบคุมด้านอารมณ์อาจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพน้อยลง ส่วนยาที่แพทย์ใช้กับโรคซึมเศร้าเป็นยาที่เชื่อว่าช่วยให้การสื่อสารระหว่างเซล์ประสาทดีขึ้น คือทำงานได้ปกติมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญระบุด้วยว่าแม้ความเครียด อย่างเช่นจากการสูญเสียคนที่รัก อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นโรคซึมเศร้า แต่ปัจจัยทางชีววิทยาถือเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้คนคนนั้นพัฒนาอาการของโรค ซึ่งปัจจัยกระตุ้นอื่นๆอาจเป็นเรื่องของยาที่ทานเป็นประจำ การใช้สารกระตุ้นอื่นๆ หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดู

ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล

ถ้าอารมณ์โดยรวมของคุณเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล อย่างเช่นสดใสช่วงหน้าร้อนหรือรู้สึกหม่นหมองช่วงหน้าหนาว คุณอาจเป็นโรคซึมเศร้าที่เรียกว่า seasonal affective disorder (SAD) หรือภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ภาวะนี้ส่วนใหญ่มักเกิดช่วงปลายฤดูฝน หรือเป็นฤดูใบไม้ร่วงในบางประเทศ เป็นช่วงต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่แสงกลางวันจะสั้นลงด้วย ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จริงๆแล้วภาวะนี้เกิดกับทุกคน แต่ต่างกันที่ถูกกระทบมากน้อยแค่ไหน มีตั้งแต่ 3 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ต่างชาติมีแสลงเรียกภาวะนี้ว่า “baby blues” (เบบี้บลูส์) ซึ่งเกิดขึ้นกับคุณแม่เพิ่งคลอดถึง 3 ใน 4 เลยทีเดียว และมีถึง 12 เปอร์เซ็นต์ในนั้นที่ภาวะจะรุนแรงและอยู่นานแม้กระทั่งผ่านช่วงเดือนแรกๆไปแล้วก็ตาม ภาวะนี้มีชื่อทางการคือ postpartum depression หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาการหลักๆจะคล้ายคลึงกับภาวะซึมเศร้าชนิดอื่น ความแตกต่างที่ชัดเจนคือภาวะนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความเป็นอยู่ดีของลูกเล็กด้วย แม่ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามักมีปัญหากับการเชื่อมสัมพันธ์กับลูก

ภาวะซึมเศร้าในเด็ก

ผลการสำรวจในสหรัฐฯพบว่ามีเด็กระดับชั้นประถมที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า 2 เปอร์เซ็นต์ และเด็กวัยรุ่นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ภาวะนี้ไปแทรกซ้อนความสามารถในการเล่นสนุก การพบเพื่อนใหม่ หรือแม้กระทั้งการทำการบ้าน อาการก็จะคล้ายคลึงกับภาวะของผู้ใหญ่ แต่เด็กบางคนอาจแสดงออกเหมือนอยู่ในอารมณ์โกรธ และกลายเป็นมีพฤติกรรมชอบทำอะไรเสี่ยงๆ หรือทำอะไรเกินสมควร เพื่อหลีกหนีปัญหาหรือปิดบังความรู้สึก ซึ่งภาวะซึมเศร้าในเด็กเป็นภาวะที่มีความยากในการวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการที่จะเป็นตัวชี้วัด แพทย์ต้องพึ่งพาการอธิบายและพูดคุยกับคนไข้ ประกอบกับประวัติทางการแพทย์ และยาที่กินเป็นประจำ การคุยกับแพทย์เรื่องอารมณ์ พฤติกรรม และกิจกรรมประจำวัน จะช่วยเปิดเผยชนิดและระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้า ซึ่งขั้นตอนการคุยกับแพทย์เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้รับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ