svasdssvasds

"โรคไบโพลาร์" ทำชีวิตเปลี่ยน! แต่รักษาได้

"โรคไบโพลาร์" ทำชีวิตเปลี่ยน! แต่รักษาได้

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกรอบ กับพฤติกรรมหรืออาการ ของ ร็อกเกอร์ “เสก โลโซ” หรือ เสกสรรค์ ศุขพิมาย ที่อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า “เสก โลโซ” ไม่สบาย หรือไม่อย่างไร ? บางคนตั้งข้อสังเกต และเข้าใจว่า เป็น โรคไบโพลาร์ ไหม?

วันนี้ทีมข่าวสปริงนิวส์ ออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต คุณหมอได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว

"โรคไบโพลาร์" ทำชีวิตเปลี่ยน! แต่รักษาได้

 

โรคไบโพลาร์ อยู่ในกลุ่มโรคทางอารมณ์

โรคนี้เจอได้ทั่วโลก ไม่ใช่โรคที่แปลกประหลาด ไบโพล่าร์ แปลภาษาไทยว่า โรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ มีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติหรืออยู่ในภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ สลับกับมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก

เช่น ด้านหนึ่งจะเหมือนซึมเศร้า คนไข้จะมีอาการ เศร้า เบื่อ เซ็ง ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร หดหู่ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ คิดมาก ในบางคน กินมาก นอนมาก น้ำหนักขึ้น ก็ได้ ถ้าเป็นมาก ๆ จะนำไปสู่ การอยากตาย หรือฆ่าตัวตาย

อาการ หรือว่าภาวะทางอารมณ์ "โรคไบโพลาร์"

-สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา คึกครื่นผิดปกติ มีพลังงานสูงมากจนผิดปกติ

-อารมณ์ดี ร่าเริงเกินไปอย่างไม่สมเหตุสมผล อยู่ไม่นิ่ง

-โต้ตอบต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็วและรุนแรง หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย อารมณ์ไม่คงที่ ไม่มีเหตุผล

-ทำกิจกรรมต่าง ๆ มาก ๆ ในคราวเดียวกัน

-ความมั่นใจสูง คิดเร็ว พูดมาก พูดเร็ว ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว

-มีความต้องการทางเพศสูง

-ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง ใช้เงินฟุ่มเฟือย บางครั้งเป็นหนี้เป็นสินก็มี

-มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ นอนมากหรือน้อยเกินไป

-มีปัญหาด้านการกิน กินอาหารปริมาณมากหรือน้อยจนเกินพอดี

-มีแนวโน้มใช้สารเสพติด

การวินิจฉัยโรคไบโพลาร์

แพทย์ จะประเมินโดยใช้ชุดคำถามจากคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตเพื่อทดสอบว่าผู้ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วหรือไม่ ซักถามอาการและปัญหาที่ประสบจากอาการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซักประวัติครอบครัวว่ามีญาติที่เกี่ยวข้องเคยประสบปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ เคยมีความคิดที่เป็นอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่นหรือไม่ รวมทั้งประวัติการใช้ยาที่อาจมีผลกระทบต่ออารมณ์ แล้วจึงจัดเตรียมขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาโรคไบโพลาร์

หลังผ่านการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามกระบวนการที่เหมาะสมกับความรุนแรงและลักษณะของอาการ เบื้องต้นแพทย์จะจ่ายยาเพื่อปรับสมดุลของสารสื่อประสาทที่เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์แปรปรวน

ผู้ป่วยไบโพลาร์ต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างต่อเนื่อง หรือจนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุดใช้ ถึงบอกไม่ได้ว่าจะต้องกินยานานแค่ไหน ทั้งนี้เพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมองให้กลับสู่สภาวะปกติ ควบคุมสารไม่ให้สูงหรือต่ำ แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว แต่ผู้ป่วยไบโพลาร์ต้องมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ การหยุดใช้ยาอย่างกะทันหัน หรือการขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องจะเกิดความเสี่ยงสูงต่อการกลับไปมีอาการของโรคซ้ำอีก หรือมีอาการที่รุนแรงและหนักไปกว่าที่เคยเป็น

ทั้งนี้หากต้องการคำ แนะนำสามารถโทรไปปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323