svasdssvasds

มารู้จัก “โรคหัด” ระบาด! ปลายฝนต้นหนาว

มารู้จัก “โรคหัด” ระบาด! ปลายฝนต้นหนาว

เตือนพ่อแม่ ควรพาลูก ตั้งแต่แรกเกิด-4 ขวบ ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด เผย 5 ปีที่ผ่านมามีคนป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งอากาศจะเป็นตัวแปรสำคัญ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผย สถานการณ์ของโรคหัดในประเทศไทย พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–1 ตุลาคม 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 2,303 ราย

กลุ่มช่วงอายุ การเกิด "โรคหัด"

กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 25-34 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ จังหวัดทีมีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ยะลา , ประจวบคีรีขันธ์ , สมุทรสาคร , เชียงใหม่ และ อำนาจเจริญ ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงนี้เป็นปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศมีความแปรปรวนและเริ่มเย็นลง ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น

ภาคกลาง เหนือ และอีสาน พบในช่วงอายุ 15-24 ปี สูงสุด

ภาคใต้ พบในช่วงเด็กเล็ก อายุ 1 ปี สูงสุด

ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้กำลังมีการระบาดหนักในกลุ่มเด็กเล็ก

สถานการณ์ "ยะลา" โรคหัดระบาดหนัก

จังหวัดยะลา มีการเกิดโรคหัดอย่างต่อเนื่อง และมีการระบาดจากพื้นที่ ที่ความครอบคลุมของวัคซีนต่ำพบสัดส่วนการเกิดโรคหัดระบาดในกลุ่มเด็ก ข้อมูลในช่วงวันที่ 1 กันยายน ถึง 9 ตุลาคม 2561 พบมีผู้ป่วยจำนวน 341 ราย โดยอำเภอที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือ

-อำเภอยะหา จำนวน 93 ราย

-อ.บันนังสตา 54 ราย

-อ.ธารโต 52 ราย

-อ.กรงปินัง และกาบัง 39 ราย

-อ.เมืองยะลา 38 ราย

-รามัน 21 ราย

-อ.เบตง 5 ราย

โดยพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย แบ่งเป็นที่ อ.กรงปินัง 3 ราย อ.บันนังสตา 1 ราย และ อ.ธารโต 1 ราย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งสถานการณ์ของจังหวัดปัตตานียังมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้น ประกอบกับพื้นที่รอยต่อของจังหวัดปัตตานีกับจังหวัดยะลามีการระบาดสูง จึงมีความจำเป็นที่พี่น้องประชาชนเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรคหัด

โรคหัด เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสหัด หากผู้ใดไม่มีภูมิคุ้มกันแล้วรับเชื้อจะสามารถติดต่อกันได้ง่าย สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูก และน้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง

พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในสถานที่ที่เป็นพื้นที่ปิดหรือผู้อาศัยร่วมบ้าน

ผู้ที่เสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโรคหัดนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคมักเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด

อาการ ของโรคหัด

อาการที่พบบ่อย คือ "ไข้ออกผื่น" โดยมักมีอาการไข้ประมาณ 3 วัน แล้วเริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามตัว อาจมีอาการคันได้บ้าง โดยผื่นเริ่มขึ้นจากศีรษะ ก่อนที่จะขยายลงมาที่ใบหน้า ลำตัวและแขนขา ตามลำดับ ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อยๆ หายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้

ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ ท้องเสีย หูชั้นกลางอักเสบ ไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ อาการชัก ไข้สมองอักเสบและอาจเสียชีวิตได้

"โรคหัด" ป้องกันได้

โรคหัดป้องกันได้ หากเด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles Vaccine) ครบตามกำหนด โดยวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกัน คือวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ทั้งโรคหัด (Measles) คางทูม (Mumps) และหัดเยอรมัน (Rubella)

-ทารกสามารถรับวัคซีนได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ 9-12 เดือน และรับวัคซีนครั้งต่อไปเมื่ออายุ 4-6 ปี

-เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน

การได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดย 15 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ 6-12 วันหลังจากได้รับวัคซีน และเด็กอีก 5 เปอร์เซ็นต์มีอาการผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัดและหายไปเอง