svasdssvasds

การรับมือโควิด-19 ในภาคประชาชน ! คุยกับ นพ.ปรีดา คนทั่วไปแห่ตรวจหาเชื้อฯ ส่งผลอย่างไร ?

การรับมือโควิด-19 ในภาคประชาชน ! คุยกับ นพ.ปรีดา คนทั่วไปแห่ตรวจหาเชื้อฯ ส่งผลอย่างไร ?

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่หันไปทางใด ก็มีแต่ข่าวคราวโควิด-19 ที่สร้างความกังวลให้กับผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก จนหลายคนคิดว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องมีระบบการตรวจหาเชื้อฯ ราคาถูก หรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สำหรับบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ก็ตาม สปริงนิวส์จึงติดต่อขอสัมภาษณ์ไปยัง นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ถึงความเป็นไปได้ของระบบดังกล่าว รวมถึงในทางปฏิบัติแล้ว การที่บุคคลทั่วไปแห่ตรวจว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่นั้น ส่งผลดี หรือผลเสียกันแน่ ?  

การรับมือโควิด-19 ในภาคประชาชน ! คุยกับ นพ.ปรีดา คนทั่วไปแห่ตรวจหาเชื้อฯ ส่งผลอย่างไร ?

สปริงนิวส์ : จากสถานการณ์ปัจจุบัน คุณหมอคิดว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ต้องรณรงค์ให้ประชาชนไปตรวจหาเชื้อฯ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ? 

นพ.ปรีดา : ก่อนที่จะถึงขั้นตอนที่ว่า ควรทำหรือยัง ซึ่งสถานการณ์มันก็ไม่น่าไว้วางใจในแง่ของการแพร่ระบาดของโรค อันนี้ก็เป็นผลโดยตรงจากการที่มีจำนวน (ผู้ติดเชื้อ) มากขึ้น ที่อาจไปในที่ที่รับเชื้อโรคได้ง่าย ตรงนี้อาจเป็นผลมาจากการขาดความระมัดระวัง ขาดการปฏิบัติอย่างเข้มงวด

ถ้าสมมติว่าเรายังไม่มีวินัยที่ดีพอ ยังไม่ระวังป้องกันทั้งตัวเรา เอาตัวเข้าไปเสี่ยง หรือคนที่มีเชื้ออยู่แล้วไปสัมผัสผู้อื่น ตรงนี้แหละครับที่ทำให้สถานการณ์บ้านเรามันค่อนข้างรุนแรงเร็วมาก

ประเด็นสำคัญก็อยากจะบอกว่า ถ้าเราไม่ช่วยกันตรงนี้ การไปรณรงค์ให้ไปตรวจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าติดเชื้อกันเยอะๆ ป่วยกันเยอะๆ ไม่สบายขึ้นมา แล้วไม่แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ มันเป็นปลายเหตุ หมายถึงว่า บุคคลผู้นั้นอาจเอาตัวเองไปเสี่ยง จึงมาตรวจ หรือว่าไม่แน่ใจ ก็เลยไปตรวจ หรือบางคนอาจไม่มีอาการอะไร แต่ก็ขอตรวจ ตรงนี้จะทำให้สถานการณ์ไม่ค่อยดี (ยิ่งขึ้นไปอีก)

ดังนั้น การรณรงค์ (ให้คนไปตรวจจำนวนมาก) ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมสังคมในหลายด้าน ด้านที่ 1. ทรัพยากร ก่อให้เกิดการสูญเสียไปโดยใช่เหตุ 2. เกิดการตื่นกลัวขึ้นมา แล้วแห่กันไปตรวจ 3. กำลังของคนที่ตรวจ หมอ พยาบาล หรือว่าหน่วยที่รับตรวจ ก็จะโกลาหล ก็จะไม่พอ เพราะมีคนที่สมควรได้รับการตรวจ กับคนที่ไม่จำเป็นต้องตรวจ ไปปนกันเป็นจำนวนมาก

การรับมือโควิด-19 ในภาคประชาชน ! คุยกับ นพ.ปรีดา คนทั่วไปแห่ตรวจหาเชื้อฯ ส่งผลอย่างไร ?

สปริงนิวส์ : โดยสรุปก็คือ การที่ประชาชนแห่ไปตรวจจำนวนมาก จะยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง

นพ.ปรีดา : ตอนนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เขาให้ข้อมูลชัดเจนอยู่แล้ว สงสัยว่าอยู่กลุ่มเสี่ยงที่ไม่สบาย หรืออาจติดเชื้อ ก็มีการชี้แจงว่า อาการประมาณใด ถึงจะเข้าข่าย

ดังนั้น หน่วยงานก็ต้องให้ความรู้มากขึ้น ซึ่งการรณรงค์ คงไม่ได้รณรงค์เรื่องให้ไปตรวจ แต่เป็นการณรรงค์ให้ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในแง่ของการป้องกันตัวเองก่อน และหากคิดว่าตัวเองไม่สบาย ก็ต้องมีความรู้ หรือหาแหล่งความรู้ได้ว่า อาการแบบที่เราเป็นอยู่เนี่ย เช่น ปวดหัวตัวร้อน เป็นหวัด ไอ เข้าข่ายหรือไม่

เมื่อมีความรู้แล้ว ก็ประเมินอาการตัวเองเบื้องต้นก่อน ถ้ารู้สึกว่าไม่แน่ใจ หรือเข้าข่าย ก็ไปที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ไปปรึกษาก่อน หรือว่าจะโทรสายด่วนเข้าไปที่กรมควบคุมโรค 1422 ไม่ใช่ว่าพอเราป่วยปุ๊บ ไปถึงก็ขอตรวจเลย อันนี้จะก่อให้เกิดความไม่สบายใจกันทั้งสองฝ่าย (ทั้งฝ่ายผู้ขอตรวจ กับแพทย์ พยาบาล) ก็ต้องดูตามความจำเป็นทางการแพทย์

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ 1. ให้ความรู้ ให้รู้เท่าทัน 2. ถ้าเจ็บปวดขึ้นมาก็ประเมินตัวเองเบื้องต้นว่า เข้าข่ายติดเชื้อหรือไม่ และ 3. หากเข้าข่าย ก็แจ้งหรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อไปถึงก็บอกอาการ แล้วเขาก็จะซักประวัติ ถ้าจำเป็นต้องตรวจ ก็จะได้รับการตรวจ หรือดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นตอนทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งเขามีมาตรฐานในการดำเนินการอยู่แล้ว

คนที่จำเป็นต้องได้ตรวจ ก็ได้ตรวจ คนที่ไม่จำเป็นต้องตรวจ ก็ได้รับคำแนะนำ สังคมก็จะไปต่อได้ สำคัญที่สุดคือ เราต้องระวังป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ไปรับเชื้อในพื้นที่เสี่ยง และไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น ก็จะช่วยได้เยอะเลย

การรับมือโควิด-19 ในภาคประชาชน ! คุยกับ นพ.ปรีดา คนทั่วไปแห่ตรวจหาเชื้อฯ ส่งผลอย่างไร ?

สปริงนิวส์ : ในกรณีของคนที่จำเป็นต้องตรวจ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจริงๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใช่ไหมครับ ?

นพ.ปรีดา : ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีระบบในการดูแล สมมติว่า ยังไงๆ ก็อยากเข้าตรวจ หรือไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งไม่แนะนำนะครับ คือถ้าเราไม่มีอาการที่เข้าข่าย ถึงแม้เราจะมีตังค์ เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่อาจไม่จำเป็น เพราะค่าตรวจหลายพันบาท หรืออาจเป็นหมื่น

แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงๆ แล้วเข้าสู่ระบบการตรวจรักษาของรัฐบาล ที่มีระบบต่างๆ ดูแลอยู่แล้ว ก็ได้รับสิทธิประโยชน์ตามนั้นแหละครับ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการตรวจรักษาตามระบบทางการแพทย์

ในประเทศไทย ทุกคนจะมีสิทธิใดสิทธิหนึ่งอยู่แล้ว อาจเป็นสิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง หรือว่า สิทธิข้าราชการ คือเรื่องสิทธิไม่น่าเป็นห่วง ถ้าจำเป็นต้องได้รับการตรวจ หมอก็จะดูแลตามขั้นตอน และตามสิทธิประโยชน์นั้นๆ

ดังนั้นคงไม่มีใครอยากป่วยแล้วมาใช้สิทธิตรวจฟรี เมื่อเราไม่อยากป่วย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการป้องกัน ลดความเสี่ยงทุกอย่าง ช่วยกันครับ ถ้าทุกคนในสังคมร่วมมือกัน ทำให้ตัวเองปลอดจากความเสี่ยงรับเชื้อ ถ้าเป็นผู้ที่ต้องกักตัว ก็ต้องมีวินัยเคร่งครัด สิ่งเหล่านี้มันจะช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ครอบครัวก็ต้องช่วยกัน ให้กำลังใจ ให้การดูแลกัน สังคมชุมชนก็ต้องช่วยกัน ขณะเดียวกันก็ไม่ไปเพ่งโทษกัน แต่ช่วยกันให้สังคมพ้นวิกฤต ต้องช่วยกันทุกฝ่าย

การรับมือโควิด-19 ในภาคประชาชน ! คุยกับ นพ.ปรีดา คนทั่วไปแห่ตรวจหาเชื้อฯ ส่งผลอย่างไร ?

สปริงนิวส์ : จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่การเดินทางสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ รวมถึงการเดินทางข้ามจังหวัด อาจทำให้การติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้คนมักเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด คุณหมอเห็นว่า ควรเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ออกไปก่อนหรือไม่ เพื่อทำให้การควบคุมสถานการณ์ไม่ยุ่งยากยิ่งขึ้น ?

นพ.ปรีดา : อันนี้โดยส่วนตัวก็ยังไม่มีความเห็นตรงนี้นะครับ เลื่อนหรือไม่เลื่อนนี่ เพราะว่าการจัดกิจกรรมต่างๆ ถึงแม้จะเป็นวันหยุดหรือไม่ใช่วันหยุด เราก็ไม่ควรจะจัดเลย (ในช่วงนี้)

ดังนั้นการเลื่อนวันหยุดออกไปหรือไม่ ต้องคำนึงว่า มันใกล้เข้ามามากแล้ว บางคนก็วางแผนการเดินทางไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่วันหยุดสงกรานต์ก็กลับบ้าน แต่ถ้าไม่มีกิจกรรมชุมนุมอะไร ไม่ไปคลุกคลีกับคนอื่นที่เราไม่รู้จัก อยู่บ้านทำกิจกรรมตามประเพณีกับครอบครัว ก็ทำได้อยู่ แต่ไม่ควรออกไปในที่ชุมชน เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ตรงนี้ก็ต้องระมัดระวัง