svasdssvasds

เซ้งที่ปากช่องผุดโปรเจ็กต์

เซ้งที่ปากช่องผุดโปรเจ็กต์

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

เปิดขุมทรัพย์ที่ดินเชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟไทย-จีน ปากช่อง 541 ไร่ จ่อให้นายทุนพัฒนาเมืองใหม่ ผุดคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ครบวงจร ร.ฟ.ท.-ทหาร-ธนารักษ์ เตรียมขอคืนพื้นที่ หลังชาวบ้านฮือต้าน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คืบหน้าตามลำดับ และ ร.ฟ.ท. ยังมีแผนเปิดให้ทุนใหญ่เข้าไปพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริเวณโดยรอบสถานีเพื่อบูมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเปิดเมืองใหม่โดยเฉพาะสถานีปากช่องที่มีพื้นที่ถึง 541 ไร่ ซึ่งถือเป็นจุดไฮไลต์ สำคัญของโครงการ

 

++ออกแบบ 4-6 เดือนเสร็จ

 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะแรกบริเวณสถานีกลางดง-สถานีปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรประมาณเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากเป็นพื้นราบไม่ต้องรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง และเป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท. และในเดือนเดียวกัน ร.ฟ.ท.จะเซ็นสัญญางานสำรวจออกแบบรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กับ จีน โดยระยะทาง 120 กิโลเมตรจะออกแบบแล้วเสร็จภายใน 4-6 เดือนหลังเซ็นสัญญา [caption id="attachment_181793" align="aligncenter" width="503"] อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อานนท์ เหลืองบริบูรณ์[/caption] อย่างไรก็ดีแนวก่อสร้างรถไฟไทย-จีนส่วนใหญ่จะอยู่ในแนวเดิม ซึ่งเป็นที่ดินของร.ฟ.ท. แต่จะมีการก่อสร้างสถานีใหม่ บางพื้นที่เพื่อความเหมาะสม เช่น สถานีปากช่อง จะพัฒนาบนที่ดินที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ 541 ไร่ แต่ปัจจุบันมีประชาชนอยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม ซึ่งรัฐต้องจ่ายชดเชย ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ชุมชนท่ามะนาว ตำบลหนองสาหร่าย และหมู่บ้านพรหมประดิษฐ์ ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง คาดว่า จะเป็นพื้นที่ทีโอดี หรือ พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง

 

++ผุดคอมเพล็กซ์รอบสถานี

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมว่า ได้เลือก พื้นที่ก่อสร้างสถานีปากช่อง บนที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ บริเวณตำบลหนองสาหร่าย เนื้อที่ 541.47 ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ใช้งานของโรงงาน 5 กองผลิตอุปกรณ์สายพลาธิการ กองทัพบก ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีปากช่องเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบัน กองทัพบก ใช้พื้นที่ และให้ชาวบ้านเช่าเพื่ออยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม การพัฒนาแบ่งเป็น 2 ระยะได้แก่ บริเวณก่อสร้างตัวสถานีปากช่องเนื้อที่ 277,461 ตารางเมตร หรือ 173.4 ไร่ เป็นที่ดินที่ราชพัสดุ แปลงนม.3076 ไม่มีชุมชนเกิดขึ้น แต่ปัจจุบัน ยังไม่แน่ชัดว่ามีประชาชนบุกรุกเพิ่มหรือไม่ สำหรับ ระยะที่ 2 ได้ กำหนดพื้นที่รอบตัวสถานี 588,900 ตารางเมตร หรือ 368 ไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย คอมเพล็กซ์ โรงแรม ฯลฯ จะอยู่บริเวณหมู่บ้านท่ามะนาวใหม่ และหมู่บ้านพรหมประดิษฐ์ ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านเช่าที่ดินที่ราชพัสดุอยู่ซึ่งเป็นสัญญาเช่าระยะสั้นๆ ไม่เกิน 3 ปี หากพบว่าหมดสัญญาเช่า จะไม่ต่ออายุสัญญา เนื่องจากเมื่อสถานีรถไฟความเร็วสูงเกิด พื้นที่ รอบสถานีจะมีมูลค่าสูง 3 เท่า โดยเทียบจากรถไฟฟ้าบีทีเอส ในกทม. อย่างไรก็ดี พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง จะไม่ปล่อยให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดปลูกอ้อย เหมือนเดิมอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า กระทรวงคมนาคม กองทัพบก ร.ฟ.ท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงสำรวจพื้นที่บริเวณก่อสร้างโครงการ T01-3280-1

++ทหารคืนพื้นที่แล้ว

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมพลาธิการ กองทัพบก กล่าวว่า ขณะนี้กองทัพยินยอมมอบพื้นที่คืนกรมธนารักษ์ เพื่อสร้างสถานีปากช่องรถไฟไทย-จีนแล้ว เพราะปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน มีเพียงชาวบ้านเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม

 

++ธนารักษ์ขานรับรัฐบาล

 

ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ที่ดินราชพัสดุตามแนวรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา มีหลายพื้นที่ เบื้องต้นทราบว่ามีที่ดินราว 500 ไร่ ซึ่งเป็นสถานีปากช่องปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของกองทัพบก (ทหาร) และบางส่วนมีชาวบ้านทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์มาก่อนหน้าแล้วซึ่งกรมยังคงยึดตามสัญญาเช่าเดิม ส่วนแนวทางขอคืนพื้นที่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะออกกฎหมายเวนคืนฉบับใหม่เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยส่วนตัวเวลานี้ยังไม่ทราบว่าจะเป็นรูปแบบไหนและหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด เท่าที่ทราบได้จัดตั้งคณะทำงานโดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯแล้ว

 

++ชาวบ้านต้าน

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่สำรวจบริเวณจุดก่อสร้างสถานีปากช่อง และพื้นที่พัฒนาโดยรอบ จากการสอบถาม นายอนุสรณ์ สถิตพงษา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านท่ามะนาวใหม่ ตำบลหนองสาหร่าย กล่าวว่า ชุมชนท่ามะนาวใหม่ทั้งหมู่บ้านกว่า 100 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และได้เคยคัดค้านในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วง 3-4 ปีก่อน และหากรัฐบาลนี้สานต่อ ก็จะคัดค้านต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ชาวบ้านได้อยู่อาศัยทำกินมานานกว่า 50 ปี สืบทอดจากบรรพบุรุษ จึงไม่ต้องการย้ายถิ่นฐานไปไหน และมองที่ดินตรงนี้ไม่เหมาะที่จะนำรถไฟความเร็วสูงมาลง เพราะ เป็นพื้นที่เกษตร ขณะเดียวกัน มีทั้งโครงการมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ อยู่แล้ว อย่างไรก็ดียอมรับว่า มีนายทุน และชาวบ้านซื้อ-ขายเปลี่ยนมือที่ดินที่ราชพัสดุ ติดถนนทางหลวงชนบท สายปากช่อง-ลำสมพุง-ด่านขุนทด ไร่ละ 1-2 ล้านบาท เช่นเดียวกับ นายสัจจา ลีบุญญะ ชาวบ้านหมู่บ้านพรหมประดิษฐ์ ตำบลจันทึก กล่าวว่า ชุมชนบ้านท่ามะนาว และชุมชนบ้าน พรหมประดิษฐ์ ได้รับผลกระทบ ทั้ง 2 หมู่บ้าน อย่างไรก็ดี ชาวบ้านไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่และต้องการเช่าที่ดินที่ราชพัสดุต่อไป

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

related