svasdssvasds

สรุปให้ ไม่คิดว่าจะกล้าทำ เลื่อนพิจารณา ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ

สรุปให้ ไม่คิดว่าจะกล้าทำ เลื่อนพิจารณา ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ

สรุปให้ ไม่ใช่คาดไม่ถึง แต่ไม่คิดว่าจะกล้าทำ เลื่อนพิจารณา ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ

การเลื่อนพิจารณา 6 ญัตติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนรับหลักการ ในการประชุมวันที่สอง โดยมีจำนวนผู้ลงมติ 715 คน เห็นด้วย 431 คน ไม่เห็นด้วย 255 คน งดออกเสียง 28 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรดลจิตดลใจให้รัฐบาลและ ส.ว. เลือกวิธีนี้ ทำให้ถูกครหาว่าต้องการซื้อเวลา ทั้งๆ ที่จะว่าไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะส่งผลดีกับรัฐบาลด้วยซ้ำ ทั้งในแง่การลดกระแสต่อต้าน และใช้เป็นข้ออ้างอยู่ในอำนาจต่อไป

แม้ตลอด 2 วันที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้ว ส.ว.ส่วนใหญ่จะมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยข้ออ้างที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่หลายคนก็คาดว่า อย่างน้อยๆ ญัตติที่ 2 ที่ยื่นโดยรัฐบาลเอง เสนอแก้ไข มาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และแต่งตั้ง 50 คน กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน น่าจะผ่านความเห็นชอบไปได้

ส่วนอีก 5 ญัตติที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งในญัตติที่ 1 คล้ายกับญัตติที่รัฐบาลเสนอ ต่างกันตรงรายละเอียด ที่ให้ ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน

 

ญัตติที่ 3 แก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ และแก้ไข มาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก
ญัตติที่ 4 แก้ไขมาตรา 270 และ มาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว. ติดตามการปฏิรูป
ญัตติที่ 5 แก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช.
ญัตติที่ 6 แก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540

บรรยากาศการประชุมสภาในวันที่สอง ไม่ต่างจากวันแรก ที่ ส.ส.รัฐบาล อภิปรายสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256

ฝ่ายค้านเน้นชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่หากไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ยาก

ส่วน ส.ว. น้ำเสียงโดยรวมก็ออกไปในทำนองว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 นั้นดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไข

กระทั่งบรรยากาศเริ่มร้อนระอุขึ้นเมื่อช่วงเย็น หลังจาก นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล เสนอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน 1 เดือน เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาร่วมกัน 3 ฝ่าย (รัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว.)

 

 

ก่อนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ขอเสียงรับรองในสภา ท่ามกลางการพยายามคัดค้านของ ส.ส.เพื่อไทย และ ส.ส.ก้าวไกล

จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็ให้สมาชิกลงมติการตั้งกรรมาธิการศึกษาก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ซึ่งก็ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เสียงส่วนเห็นด้วย ทำให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเลื่อนออกไปโดยปริยาย

นับจากนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่า การเลื่อนพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นการซื้อเวลา 
หรือทำให้เวลาที่เหลืออยู่… ยิ่งลดน้อยลงไปอีก ?

related