svasdssvasds

อาหารที่เหลือ กลายเป็นขยะอาหาร ในแต่ละวันสุดท้ายไปไหน

อาหารที่เหลือ กลายเป็นขยะอาหาร ในแต่ละวันสุดท้ายไปไหน

อาหารส่วนเกินที่สุดท้ายกลายเป็นขยะอาหาร จากวันหมดอายุ จากสภาพอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานการจำหน่าย หรือแม้แต่อาหารที่ปรุงสุกพร้อมทาน พอหมดวันก็หมดความหมาย แต่ละวันปริมาณมหาศาล ที่สำคัญยังรับประทานได้ดี แต่ต้องถูกทิ้งและยังมีส่วนสำคัญในการทำให้โลกร้อนขึ้น

สถานการณ์อาหารส่วนเกิน และขยะอาหาร 

อาหารที่ผลิตได้ในโลกกลายเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 1,300 ล้านตัน ขณะที่มีประชากรทั่วโลกต้องเผชิญความหิวโหยถึง 870 ล้านคน ข้อมูลโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO)

แต่สิ่งที่น่าตกใจและอยู่ใกล้ตัวพวกเราคนไทย คือประชากรผู้ขาดแคลนอาหารเกินครึ่ง กว่า 552 ล้านคน จาก 870 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทยเราด้วย 

ประเทศไทยมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปี 2560 มีปริมาณขยะประมาณ 27.4 ล้านตัน ในปริมาณนี้มีขยะอาหารมากถึง 64% ส่วนในกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะประมาณ 9,000 ตัน/วัน ในจำนวนนี้มีขยะอาหารมากถึง 50%  และประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ เรื่องการผลิตขยะอาหารของเอเชีย มิหนำซ้ำอาหารจากการผลิตมากกว่า 30% ที่ถูกทิ้งทั่วโลกในแต่ละปี แสดงให้เห็นว่าเรามีอาหารเพียงพอต่อคนทั้งโลก แต่อาหารเหล่านี้ ไม่สามารถแจกจ่ายให้คนที่ต้องการได้และต้องถูกทิ้งเป็นขยะในที่สุด

กินข้าวเหลือถึงกับทำให้โลกร้อนได้อย่างไร 

เพราะว่าอาหารที่เรากินไม่หมดจะถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ และในกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติในหลุมที่เต็มไปด้วยเศษอาหารเน่าเสียนั้น ขยะเกิดการบดและอัดกัน จนทำให้เกิดภาวะการย่อยสลายแบบไร้อากาศ (anaerobic decomposition) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่คาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์เล็กน้อย และก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุด

และมีอานุภาพรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซ์ถึง 25 เท่า ยิ่งในบ่อฝังกลบอุดมไปด้วยขยะอินทรีย์มากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซเพิ่มขึ้นเท่านั้น ก๊าซเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ จะส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

" ถ้าเรื่องของโลกร้อนมันกว้าง ดูไกล ดูใหญ่ไป ลองกลับมาคิดที่เรื่องเล็ก ๆ อย่างเรื่องเงินในกระเป๋ากัน หากเราซื้ออาหารมาในราคา 100 บาท กินไม่หมดเหลือทิ้ง 30% เท่ากับว่าเราทิ้งเงินไป 30 บาท วันละ 3 มื้อ เท่ากับทิ้งเงินไป 90 บาท/วัน 2,700 บาท/เดือน 32,400 บาท/ปี นี่คือการคิดจากการใช้จ่ายค่าอาหารแค่วันละ 300 บาท ถ้าบ้านไหนจ่ายค่าอาหารมากว่านี้ ก็บวกคูณกันไป "

เมื่อทราบถึงประเด็นปัญหาความขาดแคลนอาหารของคนด้อยโอกาสร่วมด้วย ยิ่งจะช่วยทำให้ปริมาณขยะอาหารลดน้อยลงไปได้จากการวางแผนการกิน การซื้อ ไม่กินทิ้งกินขว้าง หรือรู้จักแบ่งปันให้กับผู้ที่ขาดแคลน เพื่อลดปัญหาและผลกระทบจากขยะอาหารลงไปได้บ้าง 

ข้อแนะนำคือ ต้องคิดก่อนซื้อ วางแผนว่าเราจะกินอะไรในแต่ละมื้อก่อนที่จะออกไปซื้อ ลดการซื้อของที่ไม่จำเป็นพยายามใช้ไอเดียเพื่อสร้างสรรค์เมนูอาหารจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในบ้าน ในตู้เย็น 

และอย่าลืม ระหว่างทานอาหารลองนึกถึงคนที่ขาดแคลนอาหารดูค่ะ เผื่อจะทำให้เราทานอาหารจนหมดเกลี้ยงก็ได้

ติดตามชมรายการอยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ ตอนวิกฤติขยะอาหาร สะเทือนถึงภาวะเรือนกระจก ทางเนชั่นทีวีช่อง 22 วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายนนี้ เวลา 14.00-14.30 น. และทางสปริงออนไลน์