svasdssvasds

อัพเดทแฟชั่นคอลเลคชั่นน่าใส่ แถมการผลิตก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

อัพเดทแฟชั่นคอลเลคชั่นน่าใส่ แถมการผลิตก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้ต้องยอมรับว่ากระแสรักษ์โลก เป็นเทรนด์ที่มาแรงในทุกวงการจริง ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่น ซึ่งองค์การสหประชาชาติรายงานว่า อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มในปัจจุบันก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกมากถึง 10% และยังก่อให้เกิดน้ำเสียถึง 20% ของโลก

หลายแบรนด์แฟชั่นจึงต่างตบเท้าหันมาใส่ใจกับดีเทลต่างๆ ที่จะช่วยในการแบ่งเบาภาระของโลกเราใบนี้ ไม่ว่าจะขั้นตอนการผลิตที่ช่วยประหยัดพลังงาน  ลดมลพิษจากการย้อมผ้า หรือแม้แต่การนำขยะที่รีไซเคิลมาทำเป็นเสื้อผ้า ซึ่งยังคงคุณภาพ ใส่สบาย และแต่ละแบรนด์ก็ออกแบบมาได้น่าใส่มากๆ มาอัพเดทกันดีกว่าว่าคอลไหนน่าสนใจบ้าง!!! 

The earth Polo

The earth Polo - Ralph Lauren 

คอลเลคชั่น The Earth Polo จาก Ralph Lauren คิดค้นเสื้อที่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล อย่างน้อย 12 ขวด บวกกับนวัตกรรมการย้อมผ้าแบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้น้ำในการผลิต โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถลดปริมาณขวดพลาสติกตามสถานที่ทิ้งขยะต่างๆ และมหาสมุทรทั่วโลกได้ราว 170 ล้านขวด ภายในปี ค.ศ.2025 ซึ่งในปี 2021นี้  นอกจาก Earth Polo แล้วยังมีไอเท็มอื่นที่ผลิตขึ้นมาจากวัตถุดิบ Recycle เช่น รองเท้าผ้าใบที่ทำมาจาก Recycle canvas กางเกงว่ายน้ำ และ เสื้อผ้าที่ทำมาจาก Recycle nylon 

 The earth Polo Ralph Lauren เป็นแบรนด์ที่ประกาศใช้เทคโนโลยีการย้อมผ้าฝ้ายแบบยั่งยืน ลดใช้เคมี ประหยัดน้ำและพลังงาน แต่ยังคงคุณภาพและความสวยงามของสีย้อม โดยใช้นวัตกรรมน้ำยาปรับสภาพผ้าการันตีรางวัลระดับโลก "ECOFAST™" จากบริษัท ดาว (Dow) ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำได้ถึง 40% ตั้งเป้าลดน้ำเสียในกระบวนการย้อมจนเป็นศูนย์ในอนาคตเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำและมลพิษจากการย้อมผ้า 

 The earth Polo

ไอเท็มต่างๆ แบรนด์ ไม่ว่าจะเสื้อโปโล เสื้อยืด และกางเกงยีนส์หลายล้านตัวในแต่ละปี จะใช้กระบวนการย้อมผ้าแบบใหม่ ที่เรียกว่า "Color On Demand" โดยตั้งเป้าจะเป็นระบบการย้อมผ้าฝ้ายแบบไร้น้ำเสียขนาดใหญ่ระบบแรกของโลก ในเฟสแรก Ralph Lauren ได้นำนวัตกรรมน้ำยาปรับสภาพผ้า ECOFAST™ จากบริษัท ดาว (Dow) มาใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มการดูดซับสี ลดการใช้น้ำ 40% ลดการใช้สารเคมี 85% ลดการใช้พลังงาน 90% และ ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการย้อมลง 60%  ซึ่งจากคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ ECOFAST™ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย เช่น Sustainability Award และ BIG Innovation Awards จาก Business Intelligence Group ในปี 2563 รางวัล Edison Awards ในปี 2562 และ RD 100 Awards จากนิตยสาร R&D World ในปี 2561 

ต่อมาจะมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผสมสี เพื่อนำไปสู่กระบวนการย้อมผ้าฝ้ายที่ไม่ก่อให้เกิดน้ำเสียเลยในที่สุด โดย Ralph Lauren ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญถึง 4 บริษัท คือ Dow, Huntsman Corp, Corob และ Jeanologia นอกจากการลดใช้ทรัพยากรอย่างมากแล้ว การย้อมผ้าระบบใหม่นี้ยังช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการผลิตและจัดส่งเสื้อผ้า จากปัจจุบัน ราล์ฟ ลอเรนจะต้องตัดสินใจการย้อมสีผ้าล่วงหน้าหกเดือน กระบวนการใหม่นี้จะสามารถย้อมสีผ้าได้ภายในหนึ่งเดือนก่อนที่จะวางจำหน่ายในร้านค้า และจะนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายของราล์ฟ ลอเรนจำนวน 80% ภายในปี 2568 

McCartney A to Z

McCartney A to Z

คอลเลคชั่นซัมเมอร์นี้ของ Stella McCartney ถ่ายทอดให้เห็นถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ของแบรนด์ ่ซึ่งนำวัสดุที่มีอยู่มาดัดแปลงเพื่อลดปริมาณของเสีย อีกทั้งยังนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการผลิตสินค้าในคอลเลคชั่นมากถึง  65% Stella ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติผ่านความต้องการที่จะขับเคลื่อนสังคม โดยโครงร่างของเสื้อผ้ามีความโดดเด่นในสไตล์ของ Stella McCartney ซึ่งในครั้งนี้ได้นำดีเทลแบบสปอร์ตมาผสมผสานเข้าโครงร่างที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม พร้อมกันนั้นก็เสริมสัดส่วนที่จะเข้ากันได้ดีกับรูปร่างของผู้สวมใส่ ควบคู่ไปกับการปรับอุตสหกรรมแฟชั่นให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามความตั้งใจหลักของแบรนด์

McCartney A to Z McCartney A to Z McCartney A to Z

Stella ได้ถ่ายทอดกลิ่นอายของการท่องเที่ยวผ่านเดรสผ้าซาตินที่ดูพลิ้วไหวและเปล่งกระกาย รวมถึงจั๊มป์สูทที่ตกแต่งด้วยลายพิมพ์ลายสัตว์ทะเล ซึ่งจะปรากฏในลวดลายเปลือกหอยสีกรมท่าและสีขาว และแพทเทิร์นลายปะการังที่จะช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับเลกกิ้งผ้าบอดี้คอนและเดรสที่ตัดเย็บขึ้นจากผ้าวิสโคสธรรมชาติ กว่า 78% ของฝ้ายที่ Stella เลือกใช้สำหรับคอลเลคชั่นนี้คือฝ้ายออแกนิก ซึ่งได้นำมาใช้ผลิตเป็นผ้าเดนิมและผ้าเจอร์ซี่ รวมไปถึงการตัดเย็บจั๊มพ์สูทที่เป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์สำคัญของแบรนด์ ซึ่งทำให้ดูเก๋มากยิ่งขึ้นด้วยการย้อมสีด้วยมือ เรียกได้ว่าคงคอนเซ็ปรักธรรมชาติทั้งดีไซน์และวัสดุที่ใช้ 

H&M Spring 2021

H&M Spring 2021

ในคอลเลคชั่น Spring 2021 ของ H&M มาในคอนเซ็ปต์ Spring of natural innovations ซึ่งใช้วัสดุที่มาจากการ Recycle วัสดุที่เป็นออร์แกนิคหรือวัตถุดิบวิธียั่งยืน รวมถึงเศษจากพืช รีไซเคิลคอตตอน ถึง 65% ทั้งเสื้อเทรนช์โค้ทที่ได้จากเส้นใยชีวภาพจากซากพืช และกางเกงเดนิมที่ทำจากออร์แกนิคคอตตอน 100% เดรสออร์แกนิคลินินหรือกางเกงที่ทำจากเส้นใยเซลลูโลสจากพืช ไม่เพียงเท่านั้น H&M ยังดึงเอา Zinnia Kumar นางแบบสาว ที่มีตำแหน่งเป็นผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมและนักนิเวศวิทยามาร่วมถ่ายแบบในคอลเลคชั่นนี้ด้วย 

H&M Spring 2021

ซึ่งเธอเองก็ชื่นชอบเสื้อผ้าที่มาจากเหล่าวัสดุที่ยั่งยืน และรู้สึกว่าเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ อย่างเช่นกระบวนการ Agraloop™ ที่เปลี่ยนเศษพืชอาหารเช่นของเหลือจากการเกษตรป่านน้ำมัน มาทำเป็นเส้นใยและทอเป็นผ้าผืนใหม่ได้ ในขณะเดียวกันก็ลดการใช้น้ำและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่ง Zinnia ยังบอกอีกว่า “ตอนนี้เหล่าแบรนด์ใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเองก็ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจังแล้ว มันจึงมีศักยภาพมากพอที่จะทำให้แฟชั่นยั่งยืนนั้นพร้อมสำหรับคนทุกคน เพราะการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีท้ายที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งอุตสาหกรรม มันจะช่วยลดราคาและเพิ่มความต้องการเสื้อผ้าที่ผลิตขึ้นอย่างยั่งยืน แฟชั่นซึ่งเคยเป็นเส้นตรงมานานกว่าครึ่งศตวรรษในที่สุดก็กลายเป็นวงกลมแบบวัฏจักรได้”