svasdssvasds

Sinopharm วัคซีนตัวที่ 5 ทางเลือกที่ผ่านด่าน อย.ไวกว่าที่คิด

Sinopharm วัคซีนตัวที่ 5 ทางเลือกที่ผ่านด่าน อย.ไวกว่าที่คิด

ข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับคนไทย เพราะเรามีตัวเลือกมากขึ้น จากการที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวบูรณาการความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก ซิโนฟาร์ม ใันวันที่ 28 พ.ค. 2564

ปุบปับสับสนกันไม่กี่วัน จู่ๆ ก็ได้ฤกษ์ประกาศข่าวน่ายินดีที่ประเทศไทยมีวัคซีนทางเลือกเพิ่มมาอีกหนึ่งแบรนด์ นั่นคือ Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) ที่ผลิตในแดนมังกร โดย Beijing Bio-Institute of Biological Products Co., Ltd. บริษัทลูกซึ่งอยู่ภายใต้ China National Biotec Group (CNBG) 

   วัคซีนทางเลือก Sinopharm ดีลนี้มายังไง   

ในงานแถลงข่าว มี 4 คน 4 บทบาท มาร่วมแถลงข่าว Sinopharm และร่วมตอบคำถามของสื่อมวลชน ได้แก่

  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  • นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 

นิธิ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวก่อนว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 และขึ้นตรงกับท่านนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ เพื่อให้การควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยก่อนหน้านี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศไทยในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุดซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ

"เพิ่งทราบเหมือนกันว่า Sinopharm ได้รับอนุมัติจาก อย.แล้ว และทางปักกิ่งสัญญาว่าจะส่งมา 1 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายน แต่ก็ต้องดูเรื่องขั้นตอนและโลจิสติกส์ด้วย ส่วนเรื่องราคา กำลังตกลงอยู่ เนื่องจากต้องดูจำนวนที่แน่นอน และเพื่อนำเข้ามาเป็นวัคซีนตัวเลือก จะถามในระดับสาธารณะว่า หน่วยงาน องค์กร หรือส่วนใดจะนำวัคซีนไปใช้ เพื่ออะไร ติดต่อซื้อมาที่ราชวิทยาลัยฯ ได้ โดยวัคซีนนี้ใช้งบของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง ไม่ได้เป็นวัคซีนฟรีที่รัฐจัดสรรให้คนไทย"

นพ.นิธิเผยต่อว่า วัคซีนทางเลือกนี้จะรวม 'ค่าประกัน' หากเกิดอาการแพ้รุนแรงเอาไว้ด้วย และล่าสุดก็มี ปตท. กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ติดต่อขอซื้อวัคซีนมายังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว

"ส่วนเรื่องราคาวัคซีนก็จะมีต้นทุนวัคซีน โลจิสติกส์ การเก็บรักษา ซึ่งจะคิดในราคาที่ตรงไปตรงมา ไม่หากำไรเด็ดขาด"

   Fact & Data of Sinopharm   

  • Sinopharm มีชื่อทางการว่า “BBIBP-CorV” เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เช่นเดียวกับ ซิโนแวค และ โควาซิน
  • Sinopharm เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สามารถฉีดได้ตั้งแต่กลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเรื่องอายุ 
  • Sinopharm ใช้ทั่วโลกกว่า 65 ล้านโดส เช่น ในประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน ฮังการี
  • Sinopharm เป็นวัคซีนชนิดแรกที่พัฒนาโดยประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก โดยได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจาก WHO เป็นรายที่ 6

โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีน Sinopharm มีประสิทธิภาพ 79% สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จัดเก็บง่าย ไม่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากเหมือนวัคซีนอื่น นอกจากนี้ ยังมีแถบตรวจสอบบนขวดซึ่งเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิความร้อน จึงสังเกตได้ง่ายว่าวัคซีนปลอดภัยและใช้งานได้หรือไม่

who 1

Sinopharm WHO
อ่านคำอธิบายฉบับเต็มที่ออกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คลิกที่นี่ > Sinopharm [Vero Cell]- Inactivated, COVID-19 vaccine

แถลงข่าว ซิโนฟาร์ม
ในงานแถลงข่าว Sinopharm วัคซีนทางเลือก จัดขึ้น ณ ห้อง CAT Auditorium อาคารสโมสร ชั้น 2 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 

ซิโนฟาร์ม

  ภารกิจหา 'วัคซีนทางเลือก' ในสถานการณ์การแพร่ระบาดฉุกเฉิน  

ภารกิจดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่ได้มีการเพิ่มอำนาจจนเกินกว่ากฎหมายเดิมแต่อย่างใด และการผลิต-นำเข้ารวมทั้งการให้อนุญาตเรื่องเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้ ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ ผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

และเมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอ ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทในการจัดสรรปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง เช่นเดียวกับยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศเช่นกัน

Sinopharm

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อธิบายเรื่องการอนุมัติวัคซีนนี้อย่างรวดเร็วว่า “ในส่วนของการขึ้นทะเบียนของ อย. ทำได้รวดเร็วเพราะเอกสารหรือ Dossier ครบถ้วน Sinopharm จึงได้เป็นวัคซีนตัวที่ 5 ให้แก่พี่น้องชาวไทย” 

ถามว่าทำไมจึงเลือก Sinopharm เป็นการซื้อเป็นแบบรัฐกับรัฐ (G2G) หรือเปล่า นพ.นิธิ อธิบายว่า

"เลือกเพราะ Sinopharm ได้รับการรับรองจาก WHO และสะดวกต่อการพิจารณาของ อย. ซึ่งการที่เราช่วยกัน เพราะทุกคนอยากให้ประเทศไทยมีวัคซีนเร็วที่สุด

"ส่วนเรื่องการนำเข้า ผู้ผลิตกับรัฐบาลของบริษัทผู้ผลิตจะคุยกับหน่วยงานของรัฐทั้งโลก ซึ่งการที่เราเป็นหน่วยงานของรัฐ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จึงคุยกับ Sinopharm ได้ และประเด็นนี้รัฐไม่ได้ห้าม แต่เอกชนไปเองจะยาก เขาไม่คุยด้วย หลังจากนี้ เราก็จะมอบหมายให้ผู้ที่เคยทำเรื่องนี้ซึ่งมีมาตรฐานสูงมาดำเนินการตรวจสอบ เช่น จัดเก็บแบบนี้ได้มั้ย คุณภาพได้หรือไม่"

อนุทิน sinopharm นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า 

"เรามีความร่วมมือกันโดยตลอด ทั้ง อ.นิธิ อ.สันติ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สนับสนุนกันทุกรูปแบบ วันนี้ได้รับทราบว่า ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีการเจรจากับผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนวัคซีนทางเลือก ซึ่งถือเป็นข่าวดีเพื่อให้ประชาชนมีใช้มากยิ่งขึ้น ขอบคุณราชวิทยาลัยฯ ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของกระทรวงสาธารณสุขและช่วยจัดตั้งศูนย์ฯ ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น โดยทุกอย่างอยู่ใต้กรอบกฎหมายและภายใต้เจตนารมณ์ที่ดี" 

สำหรับความร่วมมือการนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก Sinopharm ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือเพื่อให้การกระจายวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างทั่วถึง

โดย​ Sinopharm ซึ่งเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การรับรองแล้ว และ บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ยื่นเอกสารครบถ้วนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อได้รับการอนุมัติ ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็สามารถนำเข้าและบริหารจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มได้ โดยหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการกระจายวัคซีนให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อ ซึ่งจะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป และจะรวมค่าประกันอยู่ในนั้นด้วย

พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวย้ำว่า "5-6 แสนคนที่จองรับวัคซีนเข้ามาแล้วจะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา ขณะที่ Sinopharm เป็นวัคซีนทางเลือก ไม่เกี่ยวกับที่จองในเว็บหรือแอปแต่อย่างใด"

อนึ่ง สำหรับความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก Sinopharm เป็นการทำงานคู่ขนานกันเพื่อช่วยเหลือให้การกระจายวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สร้างมาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนทุกระดับได้กลับไปดำเนินชีวิตวิถีใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

นพ.สันติ Sinopharm วัคซีนทางเลือก

related