svasdssvasds

รู้จัก ไซทิซีน ยาเลิกบุหรี่ฝีมือคนไทย ตัวช่วยใหม่เพื่อนัก(ไม่อยาก)สูบ

รู้จัก ไซทิซีน ยาเลิกบุหรี่ฝีมือคนไทย ตัวช่วยใหม่เพื่อนัก(ไม่อยาก)สูบ

ยามาใหม่ ดีต่อกายและใจได้อีก เพราะมีทีมคนไทยร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา ยาเลิกบุหรี่ ชนิดใหม่ชื่อว่า ไซทิซีน (Cytisine) สารสกัดธรรมชาติจากสมุนไพรไทย เมล็ดจามจุรีสีทอง แม้งานวิจัยยังไม่จบ แต่มีคนเผยว่า ราคาน่าคบหา ก็จะยิ่งดีต่อทุกคนและทุกภาคส่วน



       ขณะที่วัคซีนโควิด 19 ของไทยยังอยู่ในขั้นวิจัยและพัฒนา (โดยจุฬาฯ) ก็ได้ข่าวอัปเดตว่า มีงานวิจัยตัวใหม่ใกล้ออกสู่ตลาด นั่นคือ ไซทิซีน (Cytisine) ยาเลิกบุหรี่ที่สกัดจากสมุนไพรไทย ผลการศึกษาวิจัยร่วมกันของหลายหน่วยงานในบ้านเรา

ก้นบุหรี่

Source : unsplash

   ที่มาของยาเลิกบุหรี่    

การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายาเลิกบุหรี่ชนิดใหม่ในไทยชื่อว่า ไซทิซีน เป็นสารสกัดธรรมชาติจาก เมล็ดจามจุรีสีทอง มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคติน ทำให้ผ่อนคลาย ไม่หงุดหงิดในขณะที่เข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ ซึ่งยาชนิดนี้ใช้มานานกว่า 60 ปีในยุโรปตะวันออก ถือเป็นยาเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยมาก จึงเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองและสนับสนุนให้รัฐบาลทุกประเทศจัดหาไว้

เพราะการเลิกบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่าย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงประสานพลังกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนให้สังคมไทยปลอดควันบุหรี่ ทั้งการสนับสนุนมาตรควบคุมยาสูบในทุกระดับ ส่งเสริมมาตรการสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ให้ความรู้สร้างความตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกบุหรี่ ตลอดจนการให้บริการบำบัดการติดบุหรี่และผลิตภัณฑ์นิโคติน

"จากสถิติของเครือข่ายคลินิกให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่เฉลี่ยใน 1 ปี มีผู้เข้ารับบริการสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ 30-40% ในขณะที่รายที่ไม่ใช้ยาสามารถเลิกได้สำเร็จเพียง 10% และในกลุ่มที่เลิกด้วยตนเอง โดยไม่ได้เข้ารับบริการเลิกบุหรี่ไม่ว่ารูปแบบใดๆ จะมีโอกาสเลิกสำเร็จเพียง 5%  เท่านั้น" รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าว

และเพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น หาซื้อได้ในราคาไม่แพง จึงนำมาสู่ความร่วมมือในการพัฒนา ไซทิซีน ยาเลิกบุหรี่ชนิดใหม่ ระหว่าง สสส. กับ

  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)
  • ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
  • องค์การเภสัชกรรม (อภ.)

   หาก 'หยุดสูบ' ไม่ได้ ลองใช้ 'ยาเลิกบุหรี่' มั้ย  

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ สนับสนุนโดย สสส. อธิบายเกี่ยวกับการพัฒนายาเลิกบุหรี่ ไซทิซีน ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างที่เข้ารับบริการเลิกบุหรี่ด้วยยาชนิดนี้ 500 คน ซึ่งจะนำมาเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาชนิดอื่นอีก 500 คน โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ และเมื่อได้ผลการวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว อภ.จะขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากนั้นจะผลักดันยานี้ให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป 

“ยาชนิดนี้มีต้นทุนการผลิตที่ไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับยาเลิกบุหรี่ชนิดอื่นๆ ที่มีจำหน่ายอยู่แล้วในประเทศไทย มั่นใจ อภ.จะสามารถกำหนดราคาขายให้มีราคาถูกเพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ดีและราคาถูกได้อย่างทั่วถึง”

จามจุรีสีทอง มะรุมป่า

เมล็ดจามจุรีสีทอง (หรือที่เรียกว่า มะรุมป่า)

 ให้ ‘ไซทิซีน’ ช่วยบอก "เราเลิก...กันเถอะ"  

ยาเลิกบุหรี่ ไซทิซีน

  ยาเลิกบุหรี่ วิธีใช้คือ ค่อยๆ ลดยา   

ไซทิซีนเป็นยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม/เม็ด โดย 3 วันแรก จะต้องกินวันละ 6 เม็ด จากนั้นลดขนาดลงเรื่อยๆ เหลือ วันละ 5 เม็ด จากนั้นวันละ 4 เม็ด และวันละ 2 เม็ด ไปจนครบ 25 วัน 

“ขณะนี้มีงานวิจัยในต่างประเทศที่พยายามหาวิธีการกินยาชนิดนี้ให้ง่ายขึ้น โดยพบว่า อาจกินแค่ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 เวลา ตลอด 25 วันไปเลยก็ได้ผลไม่ต่างกัน” 

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า ไซทิซีน เป็นยาที่ดี ปลอดภัย มีงานวิจัยนานาชาติรองรับมากมายว่า มีประสิทธิผลดีจริง จึงเป็นที่สนใจมากของหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความพยายามนำเอายานี้ ซึ่งเดิมไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ยา เข้าไปจดทะเบียนที่สหรัฐอเมริกา เพื่อหวังผลเป็น ‘เจ้าของยา’ นี้เสียเอง

เมื่อเรายังไม่มียาชนิดนี้อยู่ในระบบบัญชียาของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องรีบผลักดันยานี้เข้าสู่ระบบบัญชียาโดยเร็ว เพื่อให้ยานี้เป็นสมบัติของคนไทยทุกคนต่อไป 

ไซทิซีน

ไซทิซีน (Cytisine) ยาเลิกบุหรี่ที่คาดว่าจะวิจัยเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายนนี้

who no tobacco day 2021 Source : WHO

   เป้าหมายของโลก - ความหวังของเรา   

เนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็น วันงดสูบบุหรี่โลก โดยปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดคำขวัญว่า COMMIT TO QUIT และตั้งเป้าว่าจะลดคนสูบบุหรี่ทั่วโลกให้เหลือไม่เกิน 9 ล้านคน ภายในปี 2568 หรือคิดเป็น 15% ของประชากรทั่วโลก 

สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข กำหนดคำขวัญว่า เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้ เพื่อให้คนไทยเลิกบุหรี่ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย หรือลดอัตราการสูบบุหรี่ลง SPRiNG จึงนำแนวทางบำบัดการติดบุหรี่ ทั้งแบบใช้ยา - ไม่ใช้ยา หรือเดินทางไปยังบางสถานที่ ดังนี้

  • คลินิกฟ้าใส
  • ร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่
  • ระบบบริการพยาบาลเพื่อเลิกบุหรี่แบบ One Stop Service
  • การเสริมพลังชุมชนในการช่วยเลิกบุหรี่โดย อสม.
  • การนวดกดจุดสะท้อนเท้าช่วยเลิกบุหรี่
  • สายเลิกบุหรี่ 1600

จะเห็นว่า แนวทางเลิกสูบบุหรี่ ไม่ได้มีทางออกเพียงทางเดียว สำคัญที่สุดคือ ใจของผู้สูบเอง ว่าสะดวกแบบไหน ใจพร้อมมั้ย ตั้งใจจริงหรือไม่ และทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อใคร

related