svasdssvasds

กรมสุขภาพจิต ส่งทีมเยียวยาจิตใจ MCATT ดูแลเหยื่อกราดยิงระยะยาว

กรมสุขภาพจิต ส่งทีมเยียวยาจิตใจ MCATT ดูแลเหยื่อกราดยิงระยะยาว

ความคืบหน้า กรณีกราดยิงหนองบัวลำภู แถลงจากกรมสุขภาพจิต อัปเดตความคืบหน้าปฏิบัติการเยียวยาจิตใจ จากเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดแผนดูแลจิตใจครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในระยะทันที ติดตาม ต่อเนื่อง ป้องกันการเกิด PTSD บาดแผลทางใจ

วานนี้ (10 ตุลาคม 2565) กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าวความคืบหน้าการปฏิบัติการทีมเยียวยาจิตใจ MCATT พร้อมชี้แจงการดำเนินงานทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ ระยะปฐมพยาบาลทางใจ ระยะติดตาม และระยะต่อเนื่อง เร่งเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต มุ่งเน้นการติดตามช่วยเหลือและเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิด ในผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ทางอ้อม และประชาชนในจังหวัดที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายไม่เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่รุนแรง และสามารถรับมือจากการสูญเสียได้ รวมทั้งป้องกันการเกิด PTSD และบาดแผลทางใจจากการสูญเสีย (Complicated grief) นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ให้นโยบายวางแผนดำเนินการเพื่อการเยียวยาชุมชนหนองบัวลำภูไว้ 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะปฐมพยาบาลทางใจ ให้ดำเนินการทันทีภายใน 3 วัน เน้นหลัก Safe-Need-Hope คือ การดูแลวิกฤตทางกายและจิตใจให้คลายตัวลง ปลอดภัย ตอบสนองความต้องการและสร้างความหวังกำลังใจเบื้องต้น ผลจากการดูแลพบว่ามีกลุ่มที่ต้องดูแล 3 กลุ่มดังนี้ ได้แก่

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม และกลุ่มประชาชนทั่วไปในจังหวัดที่ได้รับทราบข่าวสาร

2. ระยะติดตามภายใน 2 สัปดาห์ ทีม MCATT ดำเนินการติดตามช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ 
เป้าหมายเพื่อผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 3 กลุ่ม ให้ดีขึ้นทั้งทางกายและใจ ไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว

3. ระยะต่อเนื่อง หลัง 2 สัปดาห์เป็นต้นไป ทีม MCATT จะเฝ้าระวังและจัดการปัญหาสุขภาพจิตด้วยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการค้นหากลุ่มเสี่ยง เช่น เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพใจ (Mental Health Check In) เครื่องมือประเมินโรคเครียดภายหลังภยันตราย จัดกิจกรรม/โครงการ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชน ส่งเสริมความเข้มแข็งทางใจ ให้ก้าวสู่การใช้ชีวิตปกติในชุมชน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานว่าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 สถานการณ์ของผู้ได้รับบาดเจ็บที่อยู่ระหว่างการรักษาจำนวน 7 ราย โดยอยู่ที่ ICU 6 ราย ในจำนวนนี้ 5 รายมีอาการคงที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย อีก 1 ราย มีภาวะสมองบวมยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและรักษาอยู่ในหอผู้ป่วยทั่วไป และ 1 รายอาการปลอดภัยดีและน่าจะกลับบ้านได้เร็ว ๆ นี้ ส่วนผู้ใกล้ชิดและญาติที่ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บเล็กน้อยได้รับการรักษาจนดีขึ้นและกลับบ้านได้แล้วทุกราย ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ดูแลทุกครอบครัวได้ครบถ้วนแล้ว และมีแผนที่จะสนับสนุนการดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจในระยะยาวต่อไป 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานของทีม MCATT มีรายงานตามประเภทของผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม ดังนี้ 
กลุ่ม 1 ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง : ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต ญาติใกล้ชิดผู้เสียชีวิต จำนวน 170 คน โดยมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 60 คน ประกอบด้วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีการบาดเจ็บทางด้านร่างกายหรือจิตใจโดยตรง จำนวน 5 คน และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในครอบครัวผู้สูญเสียจำนวน 55 คน โดยเป้าหมายคือภายใน 2 สัปดาห์จะได้รับการเยียวยาจิตใจให้ครบ ซึ่ง ณ ขณะนี้ได้รับการเยียวยาแล้วจำนวน 64 คน คิดเป็นร้อยละ 37.6

กลุ่ม 2  ผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม : ประชาชนใน ตำบลอุทัยสวรรค์ จำนวน 6,591 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กใน 2 โรงเรียนใกล้ที่เกิดเหตุ จำนวน 129 คน

กลุ่ม 3 ประชาชนในจังหวัดที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ โดยแผนกิจกรรมดำเนินการดูแลเยียวยาที่ได้รับผลกระทบในช่วงระยะ 2 สัปดาห์ ได้แก่ การจัดทำชุดข้อมูลในการลงพื้นที่เยียวยาจิตใจ ข้อมูลระบุตัวตนของผู้ประสบเหตุและครอบครัว แผนที่เดินดิน/แผนที่บ้าน ประวัติการรักษาปัจจุบัน การบริการการปฐมพยาบาลทางใจ (PFA) แก่ผู้ประสบเหตุทุกราย การวางแผนการบริหารจัดการรายบุคคล(Case management)ที่ได้รับผลความรุนแรง และการวางแผนทำกลุ่มบำบัดในกลุ่มเด็กนักเรียน 2 โรงเรียน ที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่เกิดเหตุอีกด้วย โดยมีเป้าหมายของการเยียวยาจิตใจ จะต้องไม่เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่รุนแรง และสามารถรับมือจากการสูญเสียได้ รวมทั้งป้องกันการเกิดโรคเครียดภายหลังภยันตราย (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) และบาดแผลทางใจจากการสูญเสีย (Complicated grief) ได้อีกด้วย                                                        

related