svasdssvasds

อังเกลา แมร์เคล เป็นผู้ชนะรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็น ของ UNHCR ประจำปี 2022

อังเกลา แมร์เคล เป็นผู้ชนะรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็น ของ UNHCR ประจำปี 2022

อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ‘อังเกลา แมร์เคิล’ ได้รับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR จากการมอบความคุ้มครองผู้ลี้ภัยในวิกฤตสูงสุดของซีเรีย

อังเกลา แมร์เคลได้รับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR จากการมอบความคุ้มครองผู้ลี้ภัยในวิกฤตสูงสุดของซีเรีย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประกาศในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ว่า ดร. อังเกลา แมร์เคล อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศเยอรมนีจะได้รับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR ประจำ พ.ศ. 2565

รางวัลนี้ได้ตั้งชื่อตามนักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ นักการทูต และนักมนุษยธรรมชาวนอร์เวย์ ฟริดท์ฮอฟ นานเซ็น ซึ่งในแต่ละปี ได้มอบให้กับบุคคล กลุ่ม หรือองค์กร ที่อุทิศตนทำหน้าที่ปกป้องผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หรือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ

ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล ประเทศเยอรมันได้ต้อนรับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยมากกว่า 1.2 ล้านคนใน พ.ศ. 2558 และ 2559 ซึ่งเป็นวิกฤติสูงสุดของความขัดแย้งในประเทศซีเรียและท่ามกลางความรุนแรงที่อันตรายที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ

 

ในเวลานั้น อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “สถานการณ์นี้เป็นการทดสอบคุณค่าของชาวยุโรปอย่างไม่ค่อยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งไม่มากและไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่ควรปฏิบัติในทางมนุษยธรรม”เธอเรียกร้องให้ชาวเยอรมันปฏิเสธการแบ่งแยกเชื้อชาติและกระตุ้นให้พวกเขาเชื่อมั่นในตนเองอย่างมีเสรีภาพ มีความเมตตา และเปิดใจกว้าง

นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ ชมเชยความมุ่งมั่นของอดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล ในการมอบความคุ้มครองแก่ผู้ขอลี้ภัยและยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศ “ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมากกว่าล้านคนให้รอดชีวิตและสร้างชีวิตใหม่ได้ อังเกลา แมร์เคล ได้แสดงความกล้าหาญทั้งในด้านศีลธรรมและการเมืองอย่างยิ่งใหญ่” นายกรันดี กล่าว

“นี่คือความเป็นผู้นำอย่างแท้จริงเพื่อมวลมนุษยชาติที่ยืนหยัดต่อต้านผู้ที่สร้างความหวาดกลัวและการเลือกปฏิบัติ เธอแสดงให้เห็นว่านักการเมืองสามารถเลือกปฏิบัติในทางที่ถูกต้องและทำงานเพื่อหาทางออกให้กับความท้าทายของโลกได้มากกว่าการผลักความรับผิดชอบให้ผู้อื่น”

คณะกรรมการคัดเลือกกล่าวว่า พวกเขาเล็งเห็น “ความเป็นผู้นำ ความกล้าหาญ และความเมตตาของอดีตนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคล ในการทำงานเพื่อให้มั่นใจว่าการมอบความคุ้มครองนั้นครอบคลุมถึงผู้คนที่สิ้นหวังกว่าหลายแสนคน” และความพยายามของเธอในการหา “ทางออกระยะยาวในขอบข่ายที่ทำได้จริง” สำหรับผู้ที่แสวงหาความปลอดภัย

เช่นเดียวกับการปกป้องผู้ที่ถูกบังคับให้หนีจากสงคราม การประหัตประหาร และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อดีตนายกรัฐมนตรียังเป็นแรงขับเคลื่อนในความพยายามของประเทศเยอรมันจากหลายภาคส่วนเพื่อต้อนรับผู้ลี้ภัยและช่วยให้พวกเขาได้ผสมผสานกลมกลืนเข้ากับสังคมผ่านการศึกษาและโครงการฝึกอบรมต่างๆ แผนการจ้างงาน และการผสมผสานตลาดแรงงานที่ช่วยปกป้องผู้ลี้ภัยที่เปราะบางหลายหมื่นคน นอกจากนั้นเธอยังมีบทบาทสำคัญในการทำงานเพื่อให้มั่นว่าการเติบโตของประเทศเยอรมันในฐานะพันธมิตรด้านมนุษยธรรมเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เชื่อถือได้ และไม่หยุดนิ่ง รวมถึงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลกด้วย ทั้งนโยบายและคำแถลงต่อสาธารณชนของเธอเป็นพลังบวกในการอภิปรายระดับยุโรปและทั่วโลกต่อหัวข้อการขอลี้ภัยและการจัดการวิกฤตการถูกบังคับให้พลัดถิ่น

คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR ยังได้ยกย่องผู้ชนะทั้ง 4 ท่านจากระดับภูมิภาค ประจำ พ.ศ. 2565 ดังนี้

จากทวีปแอฟริกา เอ็มบิรา ไฟร์ บริเกด กลุ่มนักดับเพลิงอาสาสมัครที่ทั้งหมดเป็นผู้ลี้ภัยในสาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนีย ซึ่งได้ช่วยดับไฟป่าไปมากกว่า 100 ครั้ง และปลูกต้นไม้กว่า 1,000 ต้นเพื่อช่วยยังชีพสิ่งมีชีวิต ความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นนั้น

จากทวีปอเมริกา บิเซนตา กอนซาเลซ ที่ทำงานเกือบ 50 ปีเพื่อผู้พลัดถิ่นและบุคคลเปราะบาง และผู้ก่อตั้งสหกรณ์โกโก้ในสาธารณรัฐคอสตาริกาเพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัยและผู้หญิงในชุมชนที่มอบที่พักพิง รวมถึงผู้ที่รอดจากผลกระทบของความรุนแรงในครอบครัว

จากทวีปเอเชียและแปซิฟิค องค์กรด้านมนุษยธรรม Meikswe Myanmar ที่ได้สนับสนุนชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ด้วยอุปกรณ์ฉุกเฉิน การดูแลสุขภาพ การศึกษา และโอกาสด้านความเป็นอยู่ต่างๆ

จากทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ดร. นางาม ฮาซาน นรีแพทย์ชาวอิรัก ผู้ดูแลรักษาทางการแพทย์และด้านจิตใจให้กับเด็กผู้หญิงและผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ยาซิดีที่รอดชีวิตจากการถูกประหัตประหาร ถูกจับเป็นทาส และถูกคุกคามทางเพศ โดยกลุ่มหัวรุนแรงทางตอนเหนือของอิรัก

รางวัลนี้จะมอบแก่อดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล ในวันที่ 10 ตุลาคม ในพิธีมอบรางวัลร่วมกับผู้ได้รับรางวัลในระดับภูมิภาค

ด้วยจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกที่สูงเกิน 100 ล้านคนเป็นครั้งแรก กรันดี กล่าวว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องยึดมั่นในความรู้สึกเมตตาปราณีต่อผู้ที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านของตน และประเทศต่างๆ จำเป็นต้องถือธรรมเนียมปฏิบัติโบราณในการมอบที่ลี้ภัย อย่างที่หลายประเทศได้ถือปฏิบัติเสมอมา รวมถึงประเทศที่มอบที่พักพิงมาอย่างยาวนาน อย่างโอบอ้อมอารี เช่น ทูร์เคีย ปากีสถาน ยูกันดา และอีกหลายประเทศ

ปีนี้ยังเป็นโอกาสครบรอบ 100 ปี ตั้งแต่ฟริดท์ฮอฟ นานเซ็น ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติคนแรกได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ. 2465 จากความพยายามของเขาในการส่งนักโทษสงครามกลับประเทศและปกป้องผู้ลี้ภัยหลายล้านคนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากความขัดแย้ง การปฏิรูป และการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ จักรวรรดิออตโตมัน และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี