svasdssvasds

กรมอนามัย พบสารฟอร์มาลีนใน “ปลาหมึกกรอบ และสไบนาง” ยังไม่พบในเนื้อหมูกระทะ

กรมอนามัย พบสารฟอร์มาลีนใน “ปลาหมึกกรอบ และสไบนาง” ยังไม่พบในเนื้อหมูกระทะ

กรมอนามัย สุ่มตรวจร้านหมูกะทะ 9 ร้านพบสารฟอร์มาลีนใน “ปลาหมึกกรอบ และสไบนาง” ยังไม่พบในเนื้อหมูกระทะ เตือนผู้ประกอบการนำหมูแช่ฟอร์มาลินมาจำหน่ายเสี่ยงถูกดำเนินคดีการตามกฎหมาย

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์ที่จังหวัดชลบุรี พบว่า
มีการลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลีนส่งขายร้านหมูกะทะ และร้านอาหารนั้น
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงขอเตือนผู้ประกอบการระมัดระวังการนำวัตถุดิบดังกล่าวมาจำหน่าย เนื่องจากสารฟอร์มาลินถูกนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร 

ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลีน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้น
เกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิตจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ หากตรวจพบการกระทำดังกล่าว 
จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อว่า กรมอนามัยได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่นำโดยทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit) และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี สุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหารที่ร้านหมูกะทะ จำนวน 9 ร้าน แบ่งเป็นโซนบางแสน 3 ร้าน ตัวเมืองชลบุรี 3 ร้าน และนิคมอมตะนคร 3 ร้าน จำนวน 45 ตัวอย่าง พบมีผลบวก จำนวน 10 ตัวอย่าง  โดยพบในปลาหมึกกรอบ และสไบนาง ซึ่งต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ชลบุรีเพื่อยืนยันอีกครั้ง แต่ยังไม่พบสารฟอร์มาลีนในเนื้อหมู นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี  ยังได้สั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ เก็บตัวอย่างอาหารสดที่มีโอกาสจะใส่สารฟอร์มาลีน อำเภอละ 10 ตัวอย่าง เพื่อส่งต่อให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 ชลบุรี ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย ของประชาชน

“ทั้งนี้ หากประชาชนกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนเข้าไปในปริมาณมากก็จะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผล หากได้รับในรูปของไอระเหยหรือสูดดมจะมีฤทธิ์ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิต หากสัมผัสสารนี้โดยตรงจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษจนถึงผิวหนังไหม้ หรือหากสัมผัสที่ดวงตาจะระคายเคืองมากทำให้เป็นแผลได้ โดยเฉพาะ พ่อค้า แม่ค้า ที่จำหน่ายอาหารแช่สารฟอร์มาลินมีโอกาสสูดดมไอระเหยของสารฟอร์มาลินที่ออกจากน้ำแช่ได้ตลอดเวลา จึงขอแนะนำประชาชนที่นิยมกินอาหารนอกบ้าน ก่อนกินเนื้อหมู เนื้อวัว หรืออาหารทะเลทุกครั้ง ควรสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรบริโภค แต่หากไม่มั่นใจในร้านอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ควรเลือกปรุงประกอบอาหารเอง โดยเลือกซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย และให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงการกินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ” รองอธิบดีกรมอนามัย