svasdssvasds

เทคโนโลยีและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ทางรอดเศรษฐกิจไทยในอนาคต

เทคโนโลยีและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ทางรอดเศรษฐกิจไทยในอนาคต

เรื่องของเทคโนโลยีและความยั่งยืน กลายมาเป็นวิสัยทัศน์สำคัญของภาครัฐ-เอกชน ในการสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ รวมไปถึงนโยบายของภาครัฐเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยจะมีทางรอดในมุมเศรษฐกิจ

เครือเนชั่น นำโดย สปริงนิวส์ เนชั่นทีวี และโพสต์ทูเดย์  ได้เปิดเวทีสัมนาส่งท้ายปี Next Step Thailand 2023  ทิศทางแห่งอนาคต ที่ได้ชวนตัวแทนนักการเมืองและภาคเอกชนมาร่วมกันดูทิศทางประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2565 เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนของภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร?  

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มี 2 นวัตกรรมเปลี่ยนอนาคต นั่นคือ ลดโลกร้อน และ นวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วย 3 นวัตกรรม คือ

  • ด้านการเกษตรกรรม (Agriculture)
  • ธุรกิจยานยนต์ในอนาคตและไฮโดรเจน (Next Generation Automation)
  • การรักษาสุขภาพ (Medtech & Healthcare)

ปตท. ยังมีการตั้งเป้าลงทุนในพลังงานทดแทน Renewable Energy ให้ได้ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ต่อปี สิ่งที่จะเป็นอนาคตได้แก่ Solar Road (ถนนติดแผงโซลาร์), Solar Floating ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่สันเขื่อนจำนวนมาก, ส่วนเรื่องพลังงานลม Vortex Blodeless ซึ่งเป็นการใช้แรงสั่นสะเทือนทั้งโลก

อย่างที่ทราบกันดีว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องที่จำเป็น เมื่อต้องมาผนวกกับธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจทั่วโลกที่ต้องเจอ

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

 

สำหรับการเสวนาหัวข้อ INNOVATION DRIVING THE FUTURE ได้มีการนำเสนอเทรนด์อนาคตในเรื่องของโซล่าร์เซลล์พลังงานใหม่ที่ช่วยลดการผลิตไฟฟ้าลงประหยัดเงินมากขึ้น และเทรนด์เพื่อสุขภาพที่มุ่งหวังให้ไทยกลายเป็นเมดิฮับของภูมิภาคนี้

พีรกานต์ มานะกิจ ประธานอำนวยการ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด (ION ENERGY) ผู้นำด้านการติดตั้งโซลาร์เซลล์ กล่าวว่า การผลักดันให้ภาคประชาชน หรือภาคเอกชน ลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้นนั้น รัฐบาลจะต้องมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุน

หากเปรียบเทียบการเติบโตของโซลาร์เซลล์ ประเทศไทยกับเวียดนาม ที่เราคิดและมีโซลาร์มีก่อนหลาย ๆ ประเทศมานานหลายสิบปี แตกต่างกับเวียดนามที่เพิ่งเข้าสู่งวงการโซลาร์เซลล์ไม่นาน

แต่ปัจจุบันเติบโตก้าวกระโดดแซงหน้าเราไปไกลมาก ทำให้เวียดนามเป็น TOP 9 ของโลกเรื่องโซลาร์เซลล์มากถึง 19,300% แต่ประเทศไทย ภายใน 4 ปี เติบโตขึ้นเพียง 44% เท่านั้น

ดังนั้น ภาครัฐอาจต้องช่วยสนับสนุนด้านการเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจ หรือภาคธนาคาร มี Green loan เข้ามา (การกู้ที่จะสามารถให้กู้ได้ก็ต่อเมื่องธุรกิจหรือการกู้มีความเกี่ยวข้องการธุรกิจสีเขียว กิจกรรมสีเขียว เป็นต้น) ช่วยเสริมให้การลงทุนด้านนี้เติบโต

พีรกานต์ มานะกิจ ประธานอำนวยการ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด (ION ENERGY) ผู้นำด้านการติดตั้งโซลาร์เซลล์

 

นพ.พิเชฐ ผนึกทอง ผู้อำนวยการงานคุณภาพ และผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร สายงานการตลาด โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า ธุรกิจการแพทย์ หรือ เฮลท์แคร์ของไทยนั้น ถูกดิสรัปชั่นด้วยบทบาทของนวัตกรรม-เทคโนโลยี

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ธุรกิจนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ก่อให้เกิด 5 เทรนด์สำคัญ คือ

  • AI (ปัญญาประดิษฐ์)
  • Personalized Healthcare (การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล)
  • Retail Healthcare (ศูนย์กลางบริการสุขภาพสมัยใหม่)
  • Telehealth (เทคโนโลยีการแพทย์)
  • Wearable Medical Devices (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่)

นอกจาก นวัตกรรมทางการแพทย์ จะช่วยค้นหาความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามความเสื่อมของอายุขัยในวัยต่างๆได้ด้วย ถือเป็นการยกระดับวงการแพทย์ไทย และ จะช่วยให้ไทยไปสู่เป้าหมาย เมดิคัลฮับได้ไม่ยากในอนาคต

นพ.พิเชฐ ผนึกทอง ผู้อำนวยการงานคุณภาพ และผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร สายงานการตลาด โรงพยาบาลไทยนครินทร์

นอกจากนี้ ในช่วงของการเสวนาหัวข้อ INNOVATION OF SUSTAINABILITY ที่มี 4 ผู้บริหารองค์กรเอกชนชั้นนำมาร่วมเสวนา ได้แก่ ฮิโรยูกิ ยาซูดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซจิรูชิ เอสอี เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด สมถวิล ปธานวนิช ที่ปรึกษาคณะจัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส 

ฮิโรยูกิ ยาซูดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซจิรูชิ เอสอี เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ฮิโรยูกิ ยาซูดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซจิรูชิ เอสอี เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เทรนด์ของโลกเราตอนนี้ คือ ต้อง Save The World สิ่งที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาต้องกลับมาใช้ใหม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ sustainability (ความยั่งยืน) รวมทั้งควบคุมมาตรฐานอุตสาหกรรม

ด้วยแนวความคิดที่ยึดโยงกับความยั่งยืน Sustainability มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อ ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนมานานหลาย 10 ปี

การผลิตสินค้าของบริษัทจึงมีการควบคุมมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์ที่พยายามขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ให้ไปในทิศทาง net zero ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้มากที่สุด และเชื่อว่าเทคโนโลยีที่บริษัทเราใช้จะช่วยสิ่งแวดล้อมมากที่สุด มีความมั่นคงและปลอดภัยกับผู้ใช้


สมถวิล ปธานวนิช ที่ปรึกษาคณะจัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค

สมถวิล ปธานวนิช ที่ปรึกษาคณะจัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า การทำธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน แบบ Business and Sustainability Integration โดยมีเป้าหมายอยากให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของโลก ทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้

สิ่งที่ รพ.เมดพาร์ค ทำคือ ใส่ความยั่งยืนลงไปในภารกิจ และสร้างความแตกต่าง เน้น 3 ประเด็น ได้แก่

  • การรักษาพยาบาลที่แข่งขันได้ โรคยากซับซ้อนเป็นอะไรที่มีช่องว่างในระบบ
  • สร้างคนได้เอง ปัจจุบันแพทย์ไทยเมื่อจบแพทย์ก็ไปเรียนเฉพาะทางในต่างประเทศเพื่อนำความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เราอยากส่งเสริมแพทย์สาขาที่ขาดแคลน หาก รพ.จะยั่งยืน หรือ ก้าวสู่ Medical Hub เราต้องสร้างคนได้ด้วย
  • งานวิจัย ซื้อทุกอย่างจากต่างประเทศ มาดัดแปลง และใช้ หากเราทำวิจัยเรื่องหนึ่งสำเร็จ ไม่ใช่ดีสำหรับคนไทยเท่านั้น แต่ดีสำหรับคนทั้งโลก เพราะฉะนั้น มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะใช้เวลาอีกหลายปี แต่ต้องมีวันที่เริ่มต้น เป้าหมายระยะยาวต้องเริ่มทำวันนี้

เทรนด์ของความยั่งยืนในอนาคตของเรื่อง Healthcare เราจะไปที่ Customization มากขึ้น คิดว่าประเทศไทยทำได้ โดยเฉพาะการดูแลคนไข้ซับซ้อน

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตขยะ E-waste มากถึง 4 แสนตันต่อปี แต่เราสามารถจัดการเรื่องของ Zero Landfill (การฝังกลบเป็นศูนย์) ได้เพียง 7% เท่านั้น การลงมือทำเพียงคนเดียวนั้น ไม่เพียงพอเท่ากับการได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

สิ่งที่เอไอเอสจะผลักดันต่อไปในปี 2023 คือการมองหาความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการเอา E-waste ไปใช้งานแบบฟรีๆ เพราะเรามองว่าเรื่องของ Sustainsibility ไม่เพียงพอเท่ากับการได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 

การพัฒนานวัตกรรมสร้างความยั่งยืนมีแนวทางร่วมกัน 4  ระดับ  คือ

  1. การเพิ่มประสิทธิภาพ 
  2. การทรานฟอร์มองค์กร 
  3. เอาเทคโนโลยีที่ใช้องค์กรมาใช้แก้ปัญหาสังคม
  4. การฝังเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในคอร์โปรดักส์ 

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า คนไทยใส่ใจเรื่องของดิจิทัลในแง่ของโซเชียลมีเดียมากกว่าการนำไปปรับใช้งานเพื่อสร้างโอกาสทางการหารายได้ใหม่ๆ 

สิ่งที่ดีแทคอยากเห็นคือการเข้าใจปัญหาระดับชาติ เพราะบริษัทเทคโนโลยีอย่างเอไอเอสและดีแทค มีข้อมูลแบบ Private Sector จำนวนมาก เราคือบิ๊กดาต้าระดับใหญ่ของประเทศ

ซึ่งเราจะไม่แตะในเรื่องของข้อมูลส่วนตัว แต่เรามองไปในเรื่องของการสร้างโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านความยั่งยืน ดีแทค มุ่งเน้นด้านการโปรโมต ความเท่าเทียมทางดิจิทัลหรือ Digital Inclusion พูดถึงการกระจายความเจริญ ลดความเลื่อมล้ำ

และสุดท้ายในช่วงเสวนา Next Trend Digital Economy ในงานสัมมนา NEXT STEP THAILAND 2023 : ทิศทางแห่งอนาคต ได้เปิดเวทีให้นักการเมืองขึ้นมาแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า Digital Economy มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน เป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศและโลก

สถานการณ์ปัจจุบัน Digital Economy กำลังมีบทบาททั้งภาคการผลิต ภาคการตลาด ทั้งสินค้าบริการ ที่เป็นรูปธรรมคืออีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่างๆ ฟินเทค โซเชียลมีเดีย บิ๊กดาต้า 5G บล็อกเชน เมตาเวิร์ส และอื่นๆ สิ่งที่เราจะต้องก้าวต่อไป คือ 

  1. ต้องเพิ่มสัดส่วน จีดีพีของ Digital Economy ให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับขับเคลื่อนจีดีพีประเทศไทย
  2. สำหรับประเทศไทยปี 64 จีดีพี ปกติ +1.5% ปี 65 แนวโน้ม +3% ปีหน้าอาจ 3% นิดๆ  แต่ Digital Economy ของเราบวกมากกว่านั้น 
  3. ต้องเพิ่มอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้มากขึ้น เรายังตามหลังอินโดนีเซียและมาเลเซีย 

ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการรองรับกติกาโลก ปัจจุบัน Digital Economy โลก ยังไม่มีกติกาโลก มีแค่กติกาของ 3 ประเทศที่ตกลงกัน ที่เรียกว่า DEPA ซึ่งจีนและแคนาดากำลังจะเข้ามาร่วม รวมถึงเกาหลีใต้ กำลังขอร่วมแต่กติกาโลกโดยรวมทั้งหมดยังไม่เกิด

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Country และ digital society ในปี 2570 เราต้องอาศัยความตั้งใจจริงของผู้บริหาร เนื่องจากความสามารถด้านดิจิทัลของไทยย่ำอยู่กับที่มานาน มีแค่เทคโนโลยีที่ขึ้นเพราะซื้อได้ แต่ความพร้อมของคนไม่เป็นเช่นนั้น

ดังนั้น ต้องพัฒนาคน ปฏิวัติการศึกษาด้วยเทคโนโลยี เสริมทักษะแรงงาน พัฒนาทุนมนุษย์ สร้างพลังอำนาจให้ประชาชน ปลดล็อกกฎหมาย เราจะสร้าง Digital Government อย่างเต็มรูปแบบ open data government ต้องเกิด เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบราชการไทย ซึ่งทำได้ ไม่ยากถ้าผู้นำใส่ใจ เข้าใจ และตั้งใจที่จะทำ เป็นนโยบายของพรรคที่ตั้งใจให้เป็นรูปธรรม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้าให้ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอลของภูมิภาคอาเซียน โดยพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดการแก้ไขปัญหา 4 ทางออก คือ

  1. รัฐบาลคลิกเดียว ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานและการเอาจริงเอาจังกับปัญหาได้
  2. เติมเต็มความรู้เท่าทันภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้กับประชาชน
  3. วางโครงสร้างพื้นฐานในการแก้ปัญหาของรัฐแและทุกคนในชุมชนต้องร่วมกันแก้ไข  เป็นชุมชนดิจิทัล
  4. ภัยอาชญากรรมไซเบอร์ ส่วนหนึ่งมาจากกลไกการกำกับดูแลที่ควบคุมหละหลวม

ซึ่งต้องจัดการและเราทุกคนต้องไม่ยอมให้อำนาจเหล่านี้เข้ามาครอบงำ

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค์ชาติพัฒนากล้า

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค์ชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย คนไทยพร้อมจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายได้ แต่เราไม่มีแพลตฟอร์มของเราเอง จึงเป็นความท้าทายและคิดว่าเราต้องทำแพลตฟอร์มของตัวเอง

เช่น แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้ค่าจีพีรั่วไหลไปยังต่างประเทศ ซึ่งรัฐ ราชการ และนักการเมือง ต้องเปลี่ยน Mindset ส่วนเรื่องของนโยบายการปราบคอร์รัปชั่น เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญ อาวุธที่ดีที่สุด คือเป็นกลาง โปร่งใสและอัตโนมัติ การขออนุญาติอะไรก็ตามกับภาครัฐต้องไม่พึ่งพาดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และมีระบบที่สามารถเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเปรียบเทียบกับอาเซียนในลำดับ 6 เราเติบโตช้าที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศน์มีปัญหา งบประมาณของเศรษฐกิจดิจิทัล 980 ล้านบาท เท่ากับ 0.03% ของงบประมาณทั้งหมด งบประมาณด้านสมาร์ทซิตี้ 7 พันล้านบาท ส่วนใหญ่งบกระจุกที่กรมโยธาธิการและผังเมือง สะท้อนความไม่ใส่ใจของรัฐบาลปัจจุบัน 

ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวไกล ต้องคิดไกลกว่าประเทศไทย ต้องมีพื้นฐาน มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน มีกฎหมายที่ทันสมัย และโครงสร้างพื้นฐาน มีระบบเทคโนโลยีให้บริการประชาชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ปัญหาใหญ่อีกอย่างก็คือ การไม่กระจายอำนาจ เมื่อท้องถิ่นงบประมาณไม่เพียงพอ ต้องขอการสนับสนุนจากกองทุนดิจิทัล

 

 

related