svasdssvasds

ปศุสัตว์ ยืนยันพร้อมสนับสนุนผู้เลี้ยงไก่ส่งออกทุกราย

ปศุสัตว์ ยืนยันพร้อมสนับสนุนผู้เลี้ยงไก่ส่งออกทุกราย

อธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้แจง ข่าวออนไลน์เกี่ยวกับปัญหาการส่งออกไก่ไทยไปจีน เป็นการบิดเบือนข้อมูลและข้อกล่าวหาเลื่อนลอย

กรมปศุสัตว์ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่มีการออกข่าวเกี่ยวกับการส่งออกไก่ไปจีนผ่านสื่อออนไลน์ โดยเนื้อหามีการกล่าวหาว่า ข้าราชการกรมปศุสัตว์มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจส่งออกไก่และเกี่ยวข้องกับการสวมสิทธิ์ชิ้นส่วนไก่ส่งออกไปยังจีน โดยกลุ่มชาวจีนถูกหลอกให้วางเงินมัดจำไปจำนวนกว่า 500 ล้านบาท รวมถึงมีการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อยไม่ให้ส่งออก

ปศุสัตว์ ยืนยันพร้อมสนับสนุนผู้เลี้ยงไก่ส่งออกทุกราย

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า ข้อมูลที่สื่อออนไลน์นำมาเผยแพร่ เป็นการบิดเบือนข้อมูลและเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กรมปศุสัตว์ ได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทหน้าที่ผู้มีอำนาจในด้านการควบคุม กำกับดูแล คุณภาพ มาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงโรงงานเชือดชำแหละและแปรรูป เพื่อการส่งออก (Competent Authority: CA) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีกฎระเบียบที่ต้องถือปฏิบัติในการควบคุม กำกับดูแลทุกขั้นตอนตามกฎหมายและตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าอย่างเข้มงวด เป็นระบบ และมีมาตรฐาน ทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่น ให้การยอมรับในความรู้ ความสามารถ ของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ส่งผลให้สามารถเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวนมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิเช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย 

ปศุสัตว์ ยืนยันพร้อมสนับสนุนผู้เลี้ยงไก่ส่งออกทุกราย
โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตและแปรรูปที่ได้รับการรับรองเพื่อการส่งออกภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์รวมมากกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกโดยรวมเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี ล่าสุดในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 300,000 ล้านบาท

สำหรับในส่วนของโรงงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ส่งออกชิ้นส่วนไก่ไปยังประเทศจีนนั้น ปัจจุบันมีโรงงานภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนส่งออกจากทางการจีน (GACC) แล้ว จำนวน 23 แห่ง และอยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมจาก GACC อีกหลายแห่งเริ่มต้นส่งออกตั้งแต่ปี 2561 จำนวน 18,483 ตัน มูลค่า 1,768 ล้านบาท จนล่าสุดในปี 2565 มีการส่งออก 84,653 ตัน มูลค่า 13,223 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าการส่งออกชิ้นส่วนไก่ไปประเทศจีน มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อกำหนดการส่งออกชิ้นส่วนไก่ไปยังประเทศจีน นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศไทยแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพิธีสาร (MOU) ระหว่างไทย-จีน อย่างเคร่งครัด สามารถตรวจสอบย้อนได้ทุกขั้นตอน อีกทั้งยังได้รับการตรวจสอบติดตามจาก GACC เป็นระยะ มีการประสานงานข้อมูลทั้งหมดกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง อย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน โดยเฉพาะสมาคมผู้ค้าและผลิตไก่เนื้อเพื่อการส่งออก สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปศุสัตว์ ยืนยันพร้อมสนับสนุนผู้เลี้ยงไก่ส่งออกทุกราย

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ยังไม่เคยได้รับข้อมูลหรือข้อร้องเรียนจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมที่เกี่ยวข้อง และ โรงงานหรือผู้ประกอบการส่งออกในประเด็นที่มีการกล่าวหานอกจากนั้น กรมปศุสัตว์ได้ประสานงานสอบถามข้อมูลกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง สมาคมผู้ค้าและผลิตไก่เนื้อเพื่อการส่งออก ทุกหน่วยงานยืนยันว่าไม่มีข้อมูล หรือรายงานที่เกี่ยวกับประเด็นการร้องเรียนหรือปัญหาที่กล่าวอ้าง

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ข่าวที่บิดเบือนข้อมูลและข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย น่าจะเกิดจากผู้ไม่หวังดี และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประเทศคู่ค้า จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกสัตว์ปีกโดยรวมของไทยได้ 

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น (Application) "DLD 4.0" ที่สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งได้ในโทรศัพท์ทุกระบบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที

related