svasdssvasds

ทางออกนอกตำรา : ‘ที่ดินข้า’ใครอย่าแตะ! สนช.ทำแท้งภาษีทรัพย์สินฯ

ทางออกนอกตำรา : ‘ที่ดินข้า’ใครอย่าแตะ! สนช.ทำแท้งภาษีทรัพย์สินฯ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

326541

เที่ยงวันที่ 11 ธันวาคม 2560 จู่ๆ มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)คนหนึ่ง บึ่งรถยนต์มาลากผมออกไปรับประทานอาหาร พร้อมแฟ้มเอกสารเบ้อเริ่ม

พอถึงร้านอาหารริมแม่นํ้าเจ้าพระยา คุณพี่ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ถล่มพ่อเจ้าประคุณทูนหัวของชาวบ้านในขณะนี้เสียยับเยิน นํ้าพริกกะปิปลาร้ายังไม่ทันมาถึง ก็เหม็นหึ่ง ไปทั้งห้องแล้ว...

“บากบั่น คุณรู้มั้ยว่าทำไม สนช.และที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.… หรือภาษีทรัพย์สินฯ ถึงขนาดต้องลงมติปกปิดไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุม เรื่องกฎหมายภาษีที่ดินที่เกี่ยวพันกับคนทั้งประเทศ ไม่ว่ายากดี มีจน...ก็เพราะพวกเขาต้องการล้มและทำแท้งกฎหมายฉบับนี้”

ที่คุณวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากการประชุมดังกล่าว มีการนำเสนอผลสำรวจกลุ่มโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งระบุชื่อบุคคล กรรมสิทธิ์ มูลค่าทรัพย์ ประเภทโรงเรือน อันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสียภาษี หากเปิดเผยบันทึกการประชุม อาจกระทบต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงสมควรไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว” นั้น ขี้หกทั้งเพ...

บรรดาแกนนำ สนช.ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งเข้าไปนั่งทำงานในสภาอยู่นั่นแหละ รับไม้จากนายทุนมา แล้วจะควํ่ากฎหมายฉบับนี้ จึงแก้กฎหมายทรัพย์สินเสียเละเทะ เอื้อนายทุนเศรษฐีไปหมดแล้ว

อ้าว เฮ้ย!!!....อันนี้ผมร้องอุทาน...

จากนั้นข้อมูลจึงไหลบ่าออกมาจากปากของ สนช.ผู้สุดทน...ในเรื่องที่บอกตามตรงผมเองก็ไม่รู้มาก่อนท่านบอกว่า กฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ในรัฐสภาไทย ไม่แพ้กฎหมายนิรโทษกรรมที่ลักหลับคนไทยในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากเป็นกฎหมายที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… ประชุมพิจารณากันยาวนานที่สุดกว่า 43 ครั้งเข้าไปแล้ว |

ล่าสุด กมธ.ขอขยายระยะเวลาการพิจารณาไปแล้วถึง 4 ครั้ง ใช้เวลาไปแล้ว 7 เดือน นับตั้งแต่รับหลักการเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560

ครั้งแรกวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 กมธ.ขอขยายเวลาออกไป 60 วัน ตอนนั้นให้เหตุผลว่า กมธ.ยังมีประเด็นอยู่ระหว่างการพิจารณาอีกหลายประเด็น

ครั้งที่ 2 วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 กมธ.ขอขยายเวลาออกไป 60 วัน คราวนี้ให้เหตุผลว่า กมธ.ยังมีประเด็นอยู่ระหว่างการพิจารณาอีกหลายประเด็น ในเรื่องกำหนดอัตราภาษี การยกเว้นภาษี และการบรรเทาภาระภาษี ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

ครั้งที่ 3 วันที่ 21 กันยายน 2560 กมธ. ขอขยายเวลาออกไป 60 วัน อ้างว่าการกำหนดอัตราภาษี การยกเว้นภาษี และการบรรเทาภาระภาษีที่ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงจำเป็นจะต้องลงไปเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริงเสียก่อน

ครั้งที่ 4 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 กมธ.ขอขยายเวลาออกไป 60 วัน เนื่องจากยังพิจารณาอีกหลายประเด็น เช่น พิจารณาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรณีที่อยู่อาศัยที่เช่าระยะยาว และยังต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอัตราภาษีและผลกระทบที่เกี่ยวกับการกำหนดอัตราภาษีตามร่างกฎหมาย อีกทั้งต้องทำตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 การเลื่อนรอบนี้ จะครบกำหนดวันที่ 24 มกราคม 2561

แต่ผมแทบหูผึ่ง!! เมื่อ สนช.ท่านนี้บอกว่า ในปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กมธ.ได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ครบทุกมาตราแล้ว และมีการแก้ไขรายมาตรารวม 24 มาตรา รวมทั้งมีการกำหนดบัญชีอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ สนช.แก้ไขรายมาตราใน 24-25 มาตรา ในสาระสำคัญแทบทั้งหมด แม้กระทั่ง วัน เวลา ที่จะดีเดย์เก็บวันที่ 1 มกราคม 2562 ก็เลื่อน

 

หัวใจของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะอยู่ในมาตรา 32 กลับพบว่า สนช.และกมธ.มีการแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับฐานภาษี ที่ใช้ในการคำนวณภาษีแทบหมด

1. ที่ดิน ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ

2. สิ่งปลูกสร้าง ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง

3. ห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด

ของใหม่แก้ไปอีกแบบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเจ้าของที่ดินและผู้ครอบครอง

ขณะที่ของเดิมนั้นกำหนดว่า ฐานภาษีในการคำนวณภาษีตามพระราชบัญญัตินี้  ได้แก่  มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คิดจากราคาประเมินทุนทรัพย์รวมกับมูลค่าของทรัพย์สินอื่นอันติดกับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ที่มีลักษณะถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง

การคำนวณราคาประเมินทุนทรัพย์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง  ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเป็นฐานภาษี

(2) ที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรวมกับราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้างเป็นฐานภาษี

(3) ห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเป็นฐานภาษี

การกำหนดมูลค่าทรัพย์สินอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของทรัพย์สินอื่นตามหลักเกณฑ์  วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

มาถึงหัวใจดอกที่ 2 คือ มาตรา 34 ซึ่งกำหนดอัตราภาษีที่จะจัดเก็บจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภท เช่น

1. ที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม จัดเก็บภาษีไม่เกิน 0.2% ของฐานภาษี

2. ที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี

3. ที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น หรือใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ ไม่เกิน 2% ของฐานภาษี

4. ที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ไม่เกิน 2% ของฐานภาษี

รายละเอียดพวกนี้ก็เปลี่ยนหมด

มาตรา 37 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้ข้อสรุปว่าจะปรับลดลงเหลือไม่เกิน 20 ล้านบาท

ถึงกระนั้นก็มีการแก้ไขในส่วนของการค้างชำระภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม การยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ที่ค้างชำระภาษี

การคัดค้าน การอุทธรณ์การประเมินภาษี บทกำหนดโทษเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือบุคคลอื่นที่ขัดขวางการสำรวจประเมินภาษีของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ที่ร้ายกาจกว่านั้นคือ การแก้ไขมาตรา 39 ซึ่งร่างเดิมกำหนดให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ให้เรียกเก็บภาษีในปีที่ 4 เพิ่มขึ้นจากอัตราจัดเก็บ ตามมาตรา 34 ที่กำหนดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างไม่เกิน 2% ของฐานภาษี ในอัตรา 0.5%

และมีการแก้ไขใหม่ว่า หากยังทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์อีกเป็นเวลาติดต่อกัน ให้เพิ่มอัตราภาษีอีก 0.5% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 5%

จากเดิมที่กำหนดในมาตรา 39 ไว้ว่า ในกรณีที่ต้องเสียภาษีที่ดินและยังปล่อยให้ที่ดินรกร้างเป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกันให้เพิ่ม อัตราภาษีเป็นร้อยละ 2.5 และให้เพิ่มปีละ 0.3% จนกว่าจะถึงร้อยละ 5 ต่อปี

การแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างของ กมธ.ชุดนี้ ทำลายหลักการของการยกร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างย่อยยับ และเป็นการปกป้องบรรดาเศรษฐี คนมีทรัพย์ และนักการเมืองแทบทั้งสิ้น

ทางออกในเรื่องนี้มีแค่ 2 กรณีเท่านั้น 1. คนไทยต้องตบเท้าออกมาถามลุงตู่ และคสช.ดูว่ามีท่าทีในเรื่องกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่าจะเอาอย่างไร…เอาให้ชัดๆ อย่าไปกลัวลุงตู่ผู้อารี...

2. ปล่อยมันไปตามใจบรรดาท่านเศรษฐี และต่อไปนี้อย่าให้ใครหน้าไหนใน สนช.และกมธ.ชุดนี้มาหลอกเรื่องเหลื่อมลํ้า เรื่องความเป็นธรรม เรื่องการกระจายการถือครองทรัพยากรของประเทศอีกต่อไป…

ผมคิดได้แค่นี้จริงๆ

.....................

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/ หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3323 ระหว่างวันที่ 17-20 ธ.ค.2560

ทางออกนอกตำรา : ‘ที่ดินข้า’ใครอย่าแตะ! สนช.ทำแท้งภาษีทรัพย์สินฯ

related