svasdssvasds

สนช. ผ่าน 'ร่าง ก.ม.ลูก ส.ว.' ฉลุย!!

สนช. ผ่าน 'ร่าง ก.ม.ลูก ส.ว.' ฉลุย!!

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

  สนช. ผ่านร่างกฎหมายลูก ส.ว. ฉลุย! หลังปรับแก้กลางสภาหลายมาตรา ขณะที่ กรธ. ทักท้วงการแบ่งแยกประเภทผู้สมัคร ส.ว. เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ กลายเป็น ส.ว. 2 น้ำ วันที่ 26 ม.ค. 61 -- ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้เวลากว่า 11 ชั่วโมง พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นร่างกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายใน 10 ฉบับ ก่อนลงมติด้วยคะแนน 197 เสียง เห็นชอบให้บังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยมีผู้งดออกเสียง 7 ราย ก่อนส่งร่างให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาว่า มีความเห็นแย้งหรือไม่ ส่งกลับมาที่ สนช. ภายใน 10 วัน โดยระหว่างการพิจารณา ที่ประชุมต้องเสียเวลาไปกับการพักประชุมถึง 3 ครั้ง เนื่องจากมีการแก้ไขเนื้อหากลางสภาหลายมาตรา สร้างความสับสนให้กับที่ประชุม จนต้องนำเนื้อหาใหม่มาแจกจ่ายสมาชิกในภายหลัง สมาชิกยังตั้งคำถามด้วยว่า หากแก้ไขกันแบบนี้และเกิดความผิดพลาด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ระบุว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ สำหรับประเด็นที่มีการแก้ไขส่วนใหญ่เป็นเรื่องระบบการได้มาซึ่ง ส.ว. อาทิ การปรับลดกลุ่มสังคมเหลือเพียง 10 กลุ่ม จากเดิมที่ กรธ. ออกแบบไว้ 20 กลุ่ม การแก้ไขให้รับสมัครได้ 2 ประเภท คือ แบบอิสระ และแบบตัวแทนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ องค์กรที่ไม่เคยดำเนินกิจการทางการเมือง เพื่อป้องกันการบล็อกโหวตและอิทธิพลจากกลุ่มการเมือง โดยจะต้องเป็นองค์กรที่จดทะเบียนมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี สามารถส่งผู้สมัครได้เพียง 1 คน และต้องจ่ายค่าสมัครจำนวน 2,500 บาท ส่วนวิธีการเลือกมีการปรับแก้ให้ผู้สมัครเลือกกันเองในแต่ละประเภท ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ เท่ากับว่า จะมี ส.ว.อิสระ 100 คน และ ส.ว. แบบตัวแทนองค์กร 100 คน รวมเป็น 200 คน ซึ่งประเด็นนี้ นายอุดม รัฐอมฤต กรธ. ได้ลุกขึ้นท้วงติงว่า การแยก ส.ว. เป็น 2 ประเภท อาจทำให้ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ผู้สมัครทุกคนแข่งขันกันด้วยการเลือกกันเอง โดยไม่แบ่งแยกประเภท นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกับวิธีการป้องกันการทุจริตด้วยการกำหนดให้การเลือกกันเองของผู้สมัครแต่ละกลุ่ม หากมีผู้สมัครมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมดในกลุ่มนั้น ไม่ได้รับการเลือกจากสมาชิกแม้แต่คนเดียว ให้สันนิษฐานว่า มีการทุจริตเกิดขึ้น และสั่งให้ดำเนินการเลือกกันเองในขั้นตอนนั้นใหม่ โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่มีการปรับแก้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ส.ว. ออกไป 90 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายลูก ส.ส. เนื่องจากกรรมาธิการเห็นว่า ไม่มีความจำเป็น สำหรับวิธีการเลือก ส.ว.วิธีนี้ จะใช้อย่างเต็มรูปแบบหลังเลือกตั้ง ส.ส.นัดแรกไปแล้ว 5 ปี เนื่องจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนด ให้ ส.ว. ช่วง 5 ปีแรก จากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด 250 คน แบ่งเป็น 3  ส่วน คือ 1. คสช. ตั้งกรรมการสรรหา 9 คน คัดเลือกบุคคลให้ได้ 400 คน จากนั้นส่ง ให้ คสช. เลือก เหลือ 194 คน 2.เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน คือ ผบ.เหล่าทัพ, ผบ.ตร., ปลัด ก.กลาโหม และสุดท้าย กกต. ดำเนินการเลือกตามกลุ่มอาชีพ 200 คน จากนั้นส่งให้ คสช. คัด เหลือ 50 คน  
related