svasdssvasds

ฉลุย! สนช. ผ่านร่าง พรบ. “งบกลางปี 61” 3 วาระรวด

ฉลุย! สนช. ผ่านร่าง พรบ. “งบกลางปี 61” 3 วาระรวด

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านร่างงบประมาณเพิ่มเติม วงเงิน 1.5 แสนล้าน 3 วาระรวดเพื่อเร่งเดินนำงบประมาณลงหมู่บ้านเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณปี 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านเป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 183 เสียง ซึ่งเป็นการพิจารณา 3 วาระในคร่าวเดียว รวมเวลาในการพิจารณากว่า 5 ชั่วโมง ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มาแจงร่วมชี้แจง

โดยงบประมาณรอบนี้ แบ่งออกเป็น 1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศจำนวน 24,300 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร พัฒนาศักยภาพการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและลดต้นทุนการผลิต  2.ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 76,057 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ  สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย สนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการประชาคม และ 3.รายการค่าดำเนินการภาครัฐจำนวน 49,641 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว

ทั้งนี้ ในระหว่างการอภิปรายในวาระ 2 สมาชิกในที่ประชุมได้ตั้งคำถามถึงเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังระบาดในปัจจุบัน โดยเฉพาะสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ ว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร รวมทั้งจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมอย่างไรบ้าง

ฉลุย! สนช. ผ่านร่าง พรบ. “งบกลางปี 61” 3 วาระรวด

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปัจจุบัน จำนวนประชากรสุนัขและแมว 10 ล้านตัว เป็นสุนัขและแมวจรจัด 1.1 ล้านตัว ซึ่งกรมปศุสัตว์ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส  อีกส่วนหนึ่งจะถูกจัดสรรไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเงิน 3ร้อยล้านบาท ที่จะต้องนำไปจัดหาวัคซีนประมาณ 9 ล้านโดส รวมทั้งหมดเป็น 10 ล้านโดส ดังนั้นเชื่อว่าน่าจะเพียงพอดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ  ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ผ่านหลายรูปแบบ โดยเฉพาะโครงการสัตว์ ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ที่เกิดจากพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ด้วยทรงมีพระปณิธานให้โรคพิษสุนัขบ้าหายไปจากประเทศไทยภายในปี 2563 ผ่าน 8 ยุทธศาสตร์ คือ เฝ้าระวังป้องกันและควบคุม  จัดระบบศูนย์พักพิงสัตว์  เฝ้าระวังป้องกันควบคุมดูแลรักษา  ขับเคลื่อนการดำเนินงานในท้องถิ่น  บูรณาการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า  ติดตามประเมินผล  พัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนอย่างเข้มข้น เพราะปัจจุบันหลายคนยังขาดความเข้าใจ จากสถิติปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 11 ราย ใน 10 รายไม่พบแพทย์ อีก 1 รายพบแพทย์เมื่อสายไป เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 6 ราย ซึ่งทั้ง 6 รายไม่ไปพบแพทย์ ดังนั้นการสร้างความเข้าใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

 

related