svasdssvasds

“วิษณุ” ยัน ร่างพ.ร.บ.เทียบตำแหน่งทหาร-พลเรือน ไม่เกี่ยวปฏิรูปกองทัพ

“วิษณุ” ยัน ร่างพ.ร.บ.เทียบตำแหน่งทหาร-พลเรือน ไม่เกี่ยวปฏิรูปกองทัพ

“วิษณุ” ยัน ร่างพ.ร.บ.เทียบตำแหน่งทหาร-พลเรือน ไม่เกี่ยวปฏิรูปกองทัพ เผยแค่คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ร้องขอให้ออกเป็นกฎหมาย

วันที่ 17 พ.ค.61 ที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ... ที่ไม่ตรงกันระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาล ว่า ตนยังไม่ทราบเนื้อหาของสนช.ว่าเป็นอย่างไร ที่ พล.ต.เทียบเท่าอธิบดี แต่ส่วนของรัฐบาลที่คิดจะทำเป็นอีกแบบหนึ่ง โดยให้กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ. )ไปหารือร่วมกันว่า อย่านำยศมาใช้ในการเทียบ แต่ให้นำตำแหน่งมาใช้ ซึ่งจะยศ พล.ต. พล.ท. หรือ พล.อ. ไม่สำคัญ แต่สำคัญว่าคือตำแหน่งอะไร ถ้ายศ พล.อ. แต่ไม่มีตำแหน่งอะไรก็เทียบไม่ได้ แต่ถ้าเป็นพล.อ.แล้วมีตำแหน่ง ก็ค่อยมาดูว่าตำแหน่งนั้น จะเทียบกับตำแหน่งพลเรือนได้อย่างไร เช่น ตำแหน่งพลเรือน มีอธิบดี ปลัด รองปลัด ส่วนทหารไม่มีอธิบดี มีแต่เจ้ากรม ทั้งเจ้ากรมที่เป็นพล.ต. พล.ท. และพล.อ.ในส่วนนี้ตนไม่มีความรู้ จึงอย่าเอายศมาใช้ ให้เอาตำแหน่งมาใช้ แล้วค่อยมาเทียบกันดู อันนี้เป็นแนวคิดของรัฐบาล ว่าถ้าตำแหน่งนี้บังคับบัญชา แล้วมีคน และงบประมาณมากพอ เทียบกันได้กับกรม อย่างนั้นค่อยมาดูว่าจะเทียบกันได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ร่างของรัฐบาลกำลังทำอยู่ ยังอยู่ที่กลาโหม สตช.และก.พ. ยังไม่มาถึงตน

เมื่อถามว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นการปฏิรูปทหารหรือไม่ เนื่องจากนายทหารระดับชั้นนายพลมีเป็นจำนวนมาก รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่เกี่ยว ไม่ได้ทำเพื่อปฏิรูปกองทัพ แต่เป็นการเทียบเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ขณะที่เรื่องเหรียญตรา และสายสะพายยังมีการลักลั่นกันอยู่ เช่น ข้าราชการตำแหน่งอธิบดีได้สายสะพาย แต่เจ้ากรมบางกรมไม่ได้ คนที่ดูตรงนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าตำแหน่งไหนต้องได้ หรือตำแหน่งไหนไม่ได้

“ผมเคยเจอพลโทคนหนึ่ง เป็นแม่ทัพภาค ได้สายสะพาย แต่เมื่อเป็นพลเอกไปประจำที่กองบัญชาการทหารสูงสุด กลับไม่ได้สายสะพาย ทหารจึงมีความรู้สึกว่าทำไมพอเป็นพลโทได้ แต่เป็นพลเอกกลับไม่ได้ เราก็ชี้แจงไปว่า ตอนเป็นพลโทเป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่บังคับบัญชา แต่พอเป็นพลเอกก็ไม่ได้ทำหน้าที่บังคับบัญชา ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีมานานแล้วในอดีต”

เมื่อถามต่อว่า มีการมองกันว่าการแก้คุณสมบัติดังกล่าว จะเป็นการให้ทหารเข้ามานั่งในองค์กรอิสระ เพื่อแก้ปัญหาสเปกการสรรหาองค์กรอิสระที่สูงไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ก็ใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด แต่จะเอาเขาเข้าไปนั่งได้ ก็แล้วแต่คณะกรรมการสรรหา ซึ่งในอดีตกรรมการสรรหาก็เทียบให้ แต่เมื่อกรรมการเป็นคนละชุดเขาก็ไม่เทียบให้ เราจึงอยากสร้างเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อใช้กับทุกอย่าง ทั้งการเบิกงบประมาณต่างๆทั้งค่าที่พัก ค่าเดินทาง และการเข้าไปดำรงตำแหน่งอะไรก็ตาม ซึ่งเขามีสิทธิ์เป็นแคนดิเดต และเราจะทำอย่างไรให้เขามีสิทธิ์ แต่จะเลือกหรือไม่ก็แล้วแต่กรรมการสรรหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือเป็นการเปิดช่องให้ทหารสามารถนั่งองค์กรอิสระได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องไปเทียบกันให้ได้ก่อน ตอนนี้ยังเทียบกันไม่ถูก ฉะนั้นจึงต้องออกกฎหมายขึ้นมาเป็นเกณฑ์เทียบ ไม่เช่นนั้น คณะกรรมการสรรหาจะไปเทียบเองตามใจชอบ ซึ่งเขาก็ร้องขอให้ออกเป็นกฎหมายด้วย เพราะเขาจะได้สบายใจ โดยเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ซึ่งจะต้องไปดูในตำแหน่งอัยการ และศาลต่อไปด้วย

related