svasdssvasds

งบไอทีสภาใหม่ส่อยืดเยื้อ! หลายฝ่ายติงลดสเปคแก้ไม่ตรงจุด

งบไอทีสภาใหม่ส่อยืดเยื้อ! หลายฝ่ายติงลดสเปคแก้ไม่ตรงจุด

แม้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะยอมปรับลดสเปคของอุปกรณ์ ไอทีต่างๆ เพื่อให้งบประมาณถูกลง แต่หลายฝ่ายกลับมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด และส่อเค้าทำให้การก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ต้องยืดเยื้อออกไปอีก ติดตามรายละเอียดได้จากรายงานของ คุณเกษมณี แก้วผลึก ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์

ดับฝัน Digital Parliament ลงทันที หลังคณะรัฐมนตรีตีกลับงบประมาณด้านไอทีของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 8,000 กว่าล้าน โดยให้เหตุผลว่าอุปกรณ์หลายอย่างแพงเกินไป ประกอบกับกระแสสังคมวิจารณ์หนักถึง ราคาไมโครโฟนที่สูงถึง 130,000 บาท และ ทีวีราคากว่า 170,000 บาท ทำให้สภาสั่งถอยเรื่องนี้ทันที พร้อมชี้แจงว่างบประมาณ 8,000 กว่าล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีตีกลับ ส่วนใหญ่เป็นงบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งบประมาณ 6,500 ล้านบาท จากเดิม ที่ปี 2554 ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 3,000 ล้านบาท

ส่วนที่เพิ่มขึ้นเพราะตั้งใจให้เป็น รัฐสภา 4.0 จึงวางระบบเทคโนโลยีเป็นระดับสูงรองรับระบบ 4K ในอนาคต ทั้งไมโครโฟนที่มีคุณสมบัติพิเศษ นาฬิกาที่เชื่อมต่อดาวเทียมและโทรทัศน์ความคมชัดระดับ 4K แต่หากหลายคนไม่สบายใจกับงบประมาณดังกล่าว ทางสภาก็ยินดีปรับลดสเปค

ด้านนายพรเทพ ฤทัยเจริญลาภ ผู้จัดการโครงการออกแบบ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริษัทเมอร์ลินส์ โซลูชั่นส์ อินเตอร์แนชั่นนัล จํากัด กล่าวว่า วงเงินที่เสนอขอไปเป็นสเปคอุปกรณ์มาตรฐานยุโรป ทั้งระบบไมโครโฟน ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง จอทัชสกรีน รองรับระบบสแกนลายนิ้วมือ แสดงตนผ่านบัตรประจำตัวและเชื่อมต่อกับกล้องซีซีทีวี ที่สามารถบันทึกภาพใบหน้า เสียงของผู้อภิปรายได้ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อสเปคดังกล่าวถูกท้วงติงอาจจะปรับลดให้เป็นมาตรฐานของประเทศจีนและตัดส่วนระบบทัชสกรีนออก ไปใช้ระบบเสียบบัตรเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้สภาจะยอมถอยและทยอยปรับลดสเปคของอุปกรณ์ต่างๆ แต่สังคมกับมองว่าเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด เพราะสิ่งที่หลายคนทักท้วงเป็นเรื่องของรายละเอียดอุปกรณ์ที่ใช้ เพราะสินค้าที่บริษัทเบอร์ลินฯ กำหนดราคาเสนอขายให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เช่น ไมโครโฟนราคาตัวละ 136,000 บาท ไม่ได้ระบุยี่ห้อ บริษัทแหล่งผลิตและคุณสมบัติใดๆ ที่สำคัญไม่ปรากฎหลักฐานว่าบริษัทเมอร์ลินฯ เข้ามาเสนอราคาอุปกรณ์ด้วยวิธีการประมูลหรือวิธีใด ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทเดียวยังสามารถเสนอราคาอุปกรณ์ครอบคลุมทุกอย่าง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่สภาก็ไม่ได้ชี้แจงประเด็นนี้

นอกจากงบประมาณระบบไอทีแล้ว งบประมาณ 8,000 ล้านบาท ยังแบ่งสำหรับออกไปอีก 2 ส่วน ที่ต้องจับตา คือ งานสาธารณูปโภค งบประมาณ 1,400 ล้านบาท แบ่งแยกย่อยเป็น งานระบบไฟฟ้ากำลัง วงเงิน 276 ล้านบาท ระบบรักษาความปลอดภัยวงเงิน 211 ล้านบาท ระบบป้องกันอัคคีภัยวงเงิน 4 ล้านบาท ระบบปรับอากาศวงเงิน 395 ล้านบาท ระบบผ้าม่านวงเงิน 5 ล้านบาท เป็นต้น และสุดท้ายยังมีงบจ้างที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงานก่อสร้าง อีกประมาณ 229 ล้านบาทด้วย

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ถือว่า อยู่ในความสนใจของประชาชนมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณก่อสร้างสูง ยังไม่รวมงบที่ขอใหม่ 8,000 ล้าน และยังเป็นโครงการที่ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานที่สุดโครงการหนึ่ง ซึ่งกว่าจะหาพื้นที่ก่อสร้างได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 20 ปี และเมื่อได้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนที่ดินราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) เนื้อที่ 123 ไร่ 1 งานเศษ ก็ยังมีการขยายเวลาก่อสร้างหลายครั้ง เพราะมีปัญหาเรื่องการเวนคืนพื้นที่จนขณะนี้ใช้เวลาก่อสร้างไปแล้วกว่า 5 ปี แต่คืบหน้าเพียง ร้อยละ 50 มีกำหนดเสร็จปลายปี 2562 แต่เมื่อมาสดุดเรื่องงบประมาณระบบไอทีอีก ก็คงต้องขยายเวลาออกไปอีก

related