svasdssvasds

ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ จำคุก 6 เดือน 3 หนุ่มรู้เห็นการฉีกบัตรลงประชามติ

ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ จำคุก 6 เดือน 3 หนุ่มรู้เห็นการฉีกบัตรลงประชามติ

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท 3 หนุ่มก่อเหตุฉีกบัตรลงประชามติ - ถ่ายภาพ แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี ครึ่ง

ศาลจังหวัดพระโขนง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่ นายปิยรัฐ จงเทพ นาย จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และนายทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในลักษณะแบ่งงานกันทำโดย นายปิยรัฐ เป็นผู้ฉีกบัตร ส่วนนายจิรวัฒน์ และนายทรงธรรม เป็นผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก

โดยศาลพิจารณาพฤติกรรมของจำเลยทั้ง 3 แล้วเห็นว่า มีความผิด และให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และให้ปรับ 6,000 บาท แต่คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลาหนึ่งปี

ด้าน นายปิยรัฐ กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรกับคำพิพากษาอยู่แล้ว เพราะเมื่อตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้เตรียมใจเรื่องการเข้าเรือนจำอยู่แล้ว หลังจากนี้กิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็ยังคงต้องทำกิจกรรมต่อไป และจะมีการเคลื่อนไหวต่อในเดือนกันยายน เนื่องจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เคยสัญญาว่า จะปลดล็อกพรรคการเมือง แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีท่าที

ทั้งนี้ยังเป็นกังวลว่า คำพิพากษาที่ออกมา อาจจะเป็นบรรทัดฐานให้คดีเกี่ยวกับประชามติคดีอื่นที่ยังต่อสู้กันอยู่ และเกรงว่า การเลือกตั้งที่ยังไม่เห็นอนาคตข้างหน้าอาจจะมีกฎหมายออกมาจำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวแบบการทำประชามติครั้งก่อน

ขณที่ นายจิรวัฒน์ จำเลยที่สอง ยืนยันว่า การกระทำของเขาเป็นแค่การไปถ่ายภาพกิจกรรมของเพื่อน ซึ่งเป็นการทำตัวเหมือนกับผู้สื่อข่าวภาคพลเมือง ไม่น่าจะมีความผิด ไม่คิดว่า ตัวเองทำความผิด และภูมิใจในสิ่งที่ทำลงไป คดีนี้สร้างผลกระทบทำให้ต้องออกจากงาน เพราะนายจ้างไม่อยากรับลูกจ้างที่มีคดีทางการเมือง

สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้น เคยมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียง โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของปิยรัฐจำเลยที่หนึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและระหว่างเกิดเหตุการออกเสียงประชามติในหน่วยก็ดำเนินไปได้ตามปกติ นอกจากนี้การถ่ายวิดีโอก็ไม่เป็นความผิดเนื่องจากทำจากนอกหน่วยออกเสียงและไม่ได้ทำการเผยแพร่ระหว่างที่เปิดให้มีการลงคะแนน

ส่วนปิยรัฐที่ถูกดำเนินคดีอีกข้อหา คือ เป็นผู้ฉีกบัตรและให้การรับสารภาพในข้อหาดังกล่าว ถูกพิพากษาจำคุก 2 เดือนและปรับ 2,000 บาท ในความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้หนึ่งปี ส่วนความผิดฐานทำเลยเอกสารของผู้อื่น ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่า นายปิยรัฐ ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายกากบาทลงบนบัตรลงคะแนน บัตรลงคะแนนของกลางที่ถูกฉีกจึงยังไม่มีสถานะเป็นเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา

related