svasdssvasds

2 พรรคใหญ่ ไม่เห็นด้วย ชี้ แบ่งเขตเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ

2 พรรคใหญ่ ไม่เห็นด้วย  ชี้ แบ่งเขตเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ

2 พรรคใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ด้านนางสดศรี สัตยธรรม แนะร้องมาตรา157 เอาผิด กกต.

เพื่อไทย ชี้ แบ่งเขตเลือก ตั้งขัดรัฐธรรมนูญ

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.นครพนม และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นน่าจะละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสียเอง ไม่เช่นนั้นจะใช้ ม.44 ออกคำสั่งที่ 16/2561 ทำไม ซึ่งในข้อ 1 วรรคสอง ของคำสั่งดังกล่าว ได้นิรโทษกรรมตัวเอง และ กกต. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นับเป็นข้อสังเกตที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก

"ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ติดใจที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวคำหยาบ คำไม่สุภาพออกสู่สาธารณะ เพราะโฆษกรัฐบาลได้ออกมาขอโทษประชาชนแทนท่านแล้ว แต่ที่ติดใจเป็นคำกล่าวของแกนนำพรรคพลังประชารัฐท่านหนึ่งที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกดีไซน์มา ออกแบบมาเพื่อพวกเรา และประการสำคัญ จากการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยวพิสดารเป็นคอคอดกระใน จ.สุโขทัย ทั้งที่จำนวนเขตเลือกตั้งเท่าเดิม อาจเกิดวลีเด็ดตามมาอีกได้ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่นี้ ถูกดีไซน์มา ออกแบบมาเพื่อประโยชน์ของพวกเรา และเขตเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวพิสดารนี้ อยู่ที่ จ.สุโขทัย"

ปชป. ร้อง กกต. ค้านแบ่งเขตเลือกตั้ง

นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร อดีต ส.ส. กาญจนบุรี เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนและ นายปารเมศ โพธารากุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กาญจนบุรี เขต 3 ได้ยื่นหนังสือต่อ กกต.คัดค้านการแบ่งเขตการเลือกตั้งรูปแบบที่ 3 ของ จ.กาญจนบุรี โดยมองว่าขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายที่ระบุว่าต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน

และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน โดยรูปแบบที่ 3 มีราษฎรแตกต่างกันมาก คือเขต 1 มีจำนวนราษฎรมากกว่าเขต 2 ถึง 55,977 คน, เขต 3 มีราษฎรมากกว่าเขตเลือก 2 ถึง 47,613 คน, เขต 4 มีราษฎรมากกว่าเขต 2 ถึง 38,217 คน และเขต 5 มีราษฎรมากกว่าเขต 2 ถึง 35,937 คน

นายฉัตรพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "การแบ่งเขตรูปแบบนี้ทำให้ผมเสียเปรียบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ว่าที่ผู้สมัครพรรคหนึ่ง จึงสงสัยว่าการแบ่งเขตแบบนี้มีใบสั่งหรือไม่"

สดศรี ชี้ช่องร้อง ฟัน ม.157 กกต.

ด้าน นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต.ทั้ง 350 เขต ต้องเป็นไปตามมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 ที่ยึดหลักให้รวมพื้นที่อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง คำนึงพื้นที่ติดต่อใกล้ชิดกัน คมนาคมสะดวก และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน แต่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งมีอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 เข้ามาคุ้มครองการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ด้วย

แม้ในข้อเท็จจริง ของการแบ่งเขตมีบางพรรค เกิดข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เมื่อมีการประกาศเขตเลือกตั้งออกมาเป็นทางการแล้ว ในทางกฎหมายถือว่ามีข้อยุติ หากบุคคลใดไม่พอใจ หรือจะร้องคัดค้านก็สามารถยื่นร้องผ่านช่องทางศาลยุติธรรม และต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า กกต.มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ไม่ได้เป็นตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ จะมีความผิดเข้าข่าย ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 มากกว่าข้ออ้างเรื่องการได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง

related