svasdssvasds

"บิ๊กตู่" ถกนายกฯลาว เห็นพ้องยกระดับความร่วมมือ เน้นเกิดรูปธรรม [คลิป]

"บิ๊กตู่" ถกนายกฯลาว เห็นพ้องยกระดับความร่วมมือ เน้นเกิดรูปธรรม [คลิป]

นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 เห็นพ้องยกระดับความร่วมมือให้เป็น “หุ้นส่วนเพื่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

เอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 ณ หอประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

ภายหลังเสร็จสิ้น พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการประชุมฯ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีสปป. ลาว ในช่วงก่อนการประชุมฯ เต็มคณะว่าได้หารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการ “ยกระดับ” ความร่วมมือให้เป็น “หุ้นส่วนเพื่อความเจริญและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไทยและลาวจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนของสองประเทศได้รับประโยชน์จากการพัฒนา และความเชื่อมโยงที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงมากที่สุด โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันและเร่งรัดความร่วมมือต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าและได้ผลเป็นรูปธรรม

สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยยืนยันสนับสนุนนโยบายของลาวในการปรับประเทศจาก Land-locked เป็น Land-linked และนโยบายการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งออกของ สปป. ลาวและจะร่วมมือกันเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดต่อไป นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านการพัฒนา ไทย – ลาว (Joint Development Strategy: JDS) ร่วมกัน เพื่อสอดประสานการพัฒนาระหว่างกันให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติโดยจะร่วมกันลดอุปสรรคการค้า การลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อที่สอดคล้องกับแผนแม่บท ACMECS ในระดับอนุภูมิภาค พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังให้คำมั่นว่าในโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 ไทยพร้อมทำงานร่วมกันกับลาวและกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียนในทุกด้าน

ระหว่างการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งสองฝ่าย ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินความร่วมมือใน 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติด้านการเมืองและความมั่นคง โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว โดยเห็นพ้องที่จะรักษาความสงบตามแนวชายแดน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน 2. มิติด้านเศรษฐกิจ โดยพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายสมดี ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน สปป.ลาว เห็นพ้องที่จะพัฒนาความเชื่อมโยง ทั้งด้านการท่องเที่ยว คมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนแก่ทั้งสองฝ่าย และ3. มิติด้านสังคมและการพัฒนา โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและนายสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าความร่วมมือระหว่างไทย – ลาวล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์พิเศษที่ประชาชนของสองประเทศมีระหว่างกัน และบนพื้นฐานของความเคารพ ความไว้เนื้อเชื่อใจและความเข้าใจอันดีต่อกัน

ในการนี้นายกรัฐมนตรียืนยันความร่วมมือกับสปป.ลาว ในการเร่งฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว โดยจะดำเนินโครงการสร้างที่พักให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซ่อมแซมสะพานที่แขวงอัตตะปือ และให้ความร่วมมือด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวตามที่ฝ่ายลาวประสงค์

ด้านการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน ได้แก่ การส่งเสริมการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ – เวียงจันทน์ โดยการร่วมมือกันพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R 11) การซ่อมแซมบูรณะความเสียหายสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) และแห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย) การดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) และการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) การยกระดับจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก จังหวัดพะเยาของไทย รวมถึงการเร่งรัดเปิดใช้พื้นที่ควบคุมร่วม (Common Control Area: CCA) จุดแรกระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่บริเวณด่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) นั้นนายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันเร่งรัดผลักดันโครงการเหล่านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในโอกาสแรก

นายกรัฐมนตรีเห็นว่ารัฐบาลสองประเทศควรร่วมมือกันสอดประสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่สำคัญ คือ การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ตามเป้าหมาย 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564 ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลการค้าของลาวด้วย การจัดทำความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย – ลาว การยกระดับด่านของสองฝ่ายให้มีความเท่าเทียมกัน และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ที่จะช่วยให้สองฝ่ายจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

[gallery columns="1" size="full" ids="402141,402142,402143,402144,402145,402146,402147"]

 

นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความเชื่อมโยงที่รัฐบาลสองฝ่ายมุ่งส่งเสริม โดยขยายความร่วมมือด้าน Hardware หรือกายภาพ โดยเฉพาะถนนและสะพาน ไปพร้อมกับการพัฒนา Software หรือกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างกันและเพื่อให้ประชาชนของสองประเทศเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากความเชื่อมโยงดังกล่าวอย่างแท้จริง และสามารถเชื่อมความเชื่อมโยง (connect the connectivity) ในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านช่องทางคมนาคมที่เชื่อมเข้าหากันทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว ที่สองฝ่ายกำลังร่วมกันจัดทำ การเชื่อมโยงสายการผลิตระหว่างกัน รวมถึงการเชื่อมโยงด้านการเงิน การค้า และการลงทุน โดยใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์ของไทยเพื่อเชื่อมต่อกับ EEC ซึ่งเป็นประตูออกสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ขอให้รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ของสองประเทศร่วมมือกันอย่างแข็งขันต่อไป เพื่อผลักดันพลวัตของความสัมพันธ์ไทย – ลาวให้คืบหน้า และเพื่อร่วมกันส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนสองประเทศในอนาคต

นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป. ลาว แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย ที่มีต่อประชาชนของสปป.ลาวตลอดมา นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีแห่งสปป.ลาว ยังยืนยันความพร้อมที่จะสนับสนุนบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียน ในปี 2019 ด้วย

related