svasdssvasds

กกต.ออกประกาศรายละเอียดเลือกตั้ง รวด 9 ฉบับ คุมยิบค่าใช้จ่าย

ราชกิจจาบุเบกษา ออกประกาศ และ ระเบียบ กกต.เกี่ยวกับรายละเอียดการเลือกตั้ง รวดเดียว 9 ฉบับ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ กำหนดรายละเอียดยิบทั้งเรื่องหาเสียง การติดป้าย "ดารา-นักร้อง" รายได้หายเพราะห้ามจ้าง งดชูอดีตนายกฯ แต่ปล่อยอิสระทางโซเชียล

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2561จำนวน9 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียง และ ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.

2.ระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาทำการ

3.ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.

4.ระเบียบว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.

5.ระเบียบว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขของการให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันสมควร และการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.

6.ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.

7.ประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.

8.ประกาศ กกต.เรื่องประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.

9.ประกาศเรื่องกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งหมดมีผลบังคับใช้วันนี้ เป็นต้นไป

กกต.ออกประกาศรายละเอียดเลือกตั้ง รวด 9 ฉบับ คุมยิบค่าใช้จ่าย

โดยเนื้อหาที่น่าสนใจในระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียง และ ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งฯ นั้น มีทั้งสิ้น 4 หมวด 18 ข้อ ซึ่งในหมวด 1 วิธีการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ที่น่าสนใจคือ ข้อ 6 ที่ได้กำหนดในเรื่องการแจกเอกสาร ประกาศ หรือแผ่นป้าย ซึ่งนอกจากภาพของผู้สมัครแล้ว สามารถนำภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองลงโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้เท่านั้น

กกต.ออกประกาศรายละเอียดเลือกตั้ง รวด 9 ฉบับ คุมยิบค่าใช้จ่าย

ส่วนหมวด 2 การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้เปิดกว้างให้หาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง หรือ ว่าจ้างผู้อื่น ก็ได้ทั้งเว็บไซต์, โซเชียลมีเดีย, ยูทูบ, แอปพลิเคชัน, อีเมล, เอสเอ็มเอส และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท

ในขณะที่หมวด 4 ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง และห้ามใช้ผู้ประกอบอาชีพ หรือ เป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร และสื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือ วิชาชีพเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมือง

แต่ไม่บังคับแก่ผู้สมัคร ที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง และห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม

ในขณะที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.นั้น มี 2 หมวด 16 ข้อ โดยได้กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ขอความร่วมมือผู้บริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงในจังหวัดนั้นจัดสรรเวลาให้แก่ผู้สมัครคนละไม่เกิน 5 นาที และให้เลขาธิการ กกต.ขอความร่วมมือผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ จัดสรรเวลาให้พรรคการเมืองพรรคละไม่เกิน 10 นาที

ส่วนการจัดเวทีประชันนโยบายพรรคการเมืองนั้น ได้กำหนดให้พรรคการเมือง แจ้งความประสงค์ต่อเลขาฯ กกต. นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปมีผลบังคับใช้ โดยจะแบ่งกลุ่มประชันนโยบายเริ่มจากพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.มากไปน้อย

ส่วนประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประ กาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น มี 2 หมวด 11 ข้อ เนื้อหาที่สำคัญคือเรื่องของการปิดประกาศ ซึ่งได้กำหนดให้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น

โดยกำหนดเป็น แนวตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และมีขนาดความสูงไม่เกิน 42 เซนติเมตร (กระดาษขนาด เอ 3) และให้ผู้สมัครปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามสถานที่ที่กำหนดได้สถานที่ละ 1 แผ่น

ในขณะที่แผ่นป้ายนั้น กำหนดให้ผู้สมัคร มีไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือก ตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และให้พรรคการ เมืองทำแผ่นป้ายไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร โดยมีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 ซม. และยาวไม่เกิน 245 ซม.และห้ามติดป้ายทับซ้อนหรือบังผู้สมัครอื่น หรือ ติดนอกบริเวณที่กำหนด

ส่วนที่ทำการ หรือสาขา หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งได้ ติดแผนป้ายได้สถานที่ละ 1 แผ่น โดยมีขนาดความกว้างไม่เกิน 400 ซม.และยาวไม่เกิน 750 ซม."

นอกจากนี้ ยังมีประกาศ กกต.เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีเนื้อหา 8 ข้อ โดยเนื้อหาที่น่าสนใจคือการกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,500,000 บาท และพรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่เกิน 35,000,000 บาท

ส่วนกรณีมีการเลือกตั้งใหม่ในเขตใดก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากต้องรับสมัครใหม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ใช้จ่ายไม่เกิน 750,000 บาท แต่หากไม่ต้องรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ ให้ใช้จ่ายไม่เกิน 500,000 บาท"

"กรณี กกต.ประกาศให้เลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส. (โนโหวต) และต้องรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ ผู้สมัครแต่ละคนต้องใช้จ่ายได้ไม่เกิน 750,000 บาท และหากประกาศผลแล้ว แต่มีเหตุให้ต้องเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ผู้สมัครรับเลือกต้องใช้จ่ายไม่เกิน 1,500,000 บาท"

ส่วนประกาศ กกต.เรื่องประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น มีเพียง 3 ข้อ โดยเป็นการลงรายละเอียดของค่าใช้จ่าย/ ทั้งค่าใช้จ่ายสมัครรับเลือกตั้ง, ค่าจ้างแรงงาน, ค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง, ค่าจ้างในการปิดป้ายโฆษณาหาเสียง, ค่าจ้างทำของ, ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ, ค่าจัดทำป้าย และค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

related