svasdssvasds

เลือกตั้ง 62 : นักวิชาการ ปัดวิเคราะห์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง เชื่อมีประท้วง [คลิป]

นักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการเลือกตั้งจุดเปลี่ยนประเทศ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า หลังเลือกตั้งยังไม่สามารถวิเคราะห์ไม่ได้ แต่กลุ่มที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า หลังการเลือกตั้ง การเมืองไทยจะแบ่งออกเป็นสามก๊กทันที

เวทีเสวนา "เลือกตั้ง '62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย" เชิญนักวิชาการจากหลากหลายสาขาร่วมพูดคุย เช่น นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล , นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และ นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย นายปริญญา เชื่อว่า ผู้มีอำนาจต้องการที่จะให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง หลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงให้เลื่อนออกไปอีก 30 วัน จะกำหนดการเดิม คือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ เลื่อนมาเป็น 24 มีนาคม 2562 พร้อมทั้งยังวิเคราะห์ถึงการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า หากมาในรูปแบบของการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ กับ ส.ว. 250 คน ก็จะเป็นเรื่องที่ยาก หรือหากพลเอกประยุทธ์ ลงเป็นว่าที่นายกฯ การเมืองไทยจะแบ่งออกเป็นการเมืองแบบสามก๊ก ทันที แยกเป็น ก๊กที่ 1 คือ ส.ว. และ พรรคการเมือง ที่พร้อมเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ ก๊กที่ 2 คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่าย เช่น พรรคไทยรักษาชาติ และ พรรคเพื่อชาติ ที่จะมี ส.ส ไม่ถึง 376 คน และ ก๊กที่ 3 คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ที่หากประชาธิปัตย์มาเป็นที่หนึ่งก็ต้องเลือก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้โอกาสของพรรคพลังประชารัฐ และพลเอกประยุทธ์ มาเป็นที่ 1 นั้นไม่ง่าย นายปริญญายังบอกด้วยว่า เสียงของคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก นับตั้งแต่ 2554 เป็นต้นมา ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้

ด้าน นายโคทม อารียา ระบุว่า ให้ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง พิจารณานโยบายของแต่ละพรรคที่สามารถปฏิบัติได้และโดนใจ ตรงประเด็นที่สุด พร้อมเสนอหลักการสามข้อของการเลือกตั้ง คือ ให้เคารพ หลักการ ที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิน 250 เสียงมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแนวทางตั้งแต่ปี 2535 แล้ว และ นำนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่มี ส.ส. ถึง 250 มาใช้ทั้งหมด ในการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างมีการต่อรองอำนาจหรือตำแหน่งในกระทรวงต่างๆว่าจะเป็นของใคร

ขณะที่ นายบรรยง พงษ์พานิช ระบุว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ยังถือว่า เติบโตช้าที่สุดสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา เศรษฐกิจภายในประเทศไม่ยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เกิดขึ้นจากผู้ร่างที่เป็นหน่วยงานข้าราชการและอดีตข้าราชการ ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจตกต่ำหรือโตช้า

นายสุรชาติ ระบุว่า ในอนาคตกองทัพจะอยู่ภายใต้แรงกดดันมากขึ้น หากเราปล่อยให้กองทัพมีบทบาท ก็จะทำให้สถานการณ์วนกลับไปยังอดีต และหาก คสช. ยังอยู่ต่อ ประเทศไทยจะมีระบอบเผด็จการครึ่งใบ ดังนั้น เราควรร่วมมือกันทำให้กองทัพ และผู้นำทหาร กลับเข้ากรมกองและเป็นทหารอาชีพต่อไป

นายปริญญา ยังเป็นห่วงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ กกต. ที่ดูเหมือนว่า จะเกรงใจคสช. และจะเกิดปัญหาทันที หากพลเอกประยุทธ์ ตัดสินใจลงบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมชี้ว่า กกต. มีอำนาจมากในครั้งนี้ เพราะเพียงกกต. 1 คนก็สามารถสั่งให้เลือกตั้งใหม่ได้ทันที ไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่ต้องรอมติจากกกต. ทั้งหมด พร้อมมองว่า พลเอกประยุทธ์ คาดหวังจะลงบัญชีรายชื่อต่อเพราะหวังว่าจะทำได้ในการเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างจะชัดเจนหลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ สำหรับปรากฏการณ์งูเห่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ตนเองเป็นห่วงเรื่องอำนาจรัฐที่จะคุมระบบ ส.ส. ไม่อยู่ จนอาจเกิดการรัฐประหารซ้ำ แต่โอกาสที่จะมีการรัฐประหารในอนาคต ก็เป็นไปได้ยาก

นายปริญญา ยังเชื่อว่า การประท้วงของกลุ่มต่างๆ หลังการเลือกตั้ง จะยังเกิดขึ้น หากพลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ ในบัญชีรายชื่อ แต่จะไม่เหมือนสมัยเมื่อครั้ง พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่มองว่า จะมีการคดโกงเกิดขึ้นอย่างมาก แต่คงไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะขณะนี้ เป็นยุค 4.0 ที่ทุกคนสามารถถ่ายภาพได้ด้วยโทรศัพท์มือถือและโพสต์ภาพได้ทันที

สำหรับสถานการณ์หลังเลือกตั้ง นายปริญญา มองว่า ระยะเวลา 5 ปี ในช่วงเปลี่ยนผ่านสถานการณ์ของบ้านเมือง คสช. น่าจะเป็นคณะรัฐประหารคณะแรกที่อยู่ในตำแหน่งได้นานขนาดนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การที่ทหารเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยให้กับประเทศ เป็นเพราะคนไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกแยกและปกครองตนเองไม่เป็น นี้จึงถือเป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อจะใช้ชีวิตและกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ นายสุรชาติ ระบุว่า มีความเป็นห่วง คสช. และอยากเห็นพลเอกประยุทธ์ กลับเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะหากกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต ก็จะไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 และจะเจอระบบการเมืองในแบบรัฐสภา ที่จะมีปัญหาการภาวะคุม ส.ส. ไม่ได้ ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ ที่จะเป็นตัวชี้วัดเพื่อไม่ให้บรรยากาศการเมืองแบบเดิมกลับมา

ขณะเดียวกันมองว่า การประท้วงทางการเมืองจะมีขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง แต่ก็ถือว่า เป็นเรื่องปกติเมื่อ คสช. หมดอำนาจ แต่การรัฐประหารรอบใหม่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก เพราะทหารมีบทบาทที่เปลี่ยนไป มีทหารรุ่นใหม่เข้ามาและมีทัศนะทางการเมืองไทยที่เปลี่ยนไป แต่ก็อาจจะเป็นการรัฐประหารอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้

related