svasdssvasds

โมฆะ .... "ปุ่มรีเซ็ต" ที่รอการกด?

โมฆะ .... "ปุ่มรีเซ็ต"  ที่รอการกด?

ย่างเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วประเทศ 24 มี.ค. เข้าไปทุกที โพลบ้าง การคาดการณ์บ้าง ต่างๆนาๆของการทำนายผลการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยอาศัยข้อมูลสถิตื ที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยกขึ้นมา ทำให้เซียนการเมืองหลายคนต่างเริ่มให้ความสำคัญกับคำว่า โมฆะ มากขึ้นทุกที

เหตุผลไม่ใช่เรื่องของการปลุกกระแส สร้างเงื่อนไขอะไร แต่ทิศทางการเคลื่อนที่ของข่าวต่างๆที่ปรากฎมันมีปัจจัยที่ทำให้อดคิดไม่ได้หลายอย่าง

ย้อนอดีตไปเมื่อครั้งการเลือกตั้งทั่วประเทศ 2 เม.ย.2549 ศาลรธน.สั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุผลว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ

2 ก.พ. 2557 ศาลรธน.ชี้ว่า กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันเดียวกัน ทั่วราชอาณาจักรจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งนั้นมีอันต้องเป็นโมฆะไป

นั่นคืออดีตที่ผ่านมาของการเมืองไทย หลายคนอาจจะ งง ว่าแล้วมันเกี่ยวอะไร .... ที่ยกตัวอย่างมานี่ก็เพียงเพื่อต้องการชี้แนะให้เห็นว่าบางครั้งเรื่องเล็กน้อยก็กลายเป็นปมที่ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะไปได้ด้วยเหมือนกันทีนี้หันมาดูในปัจจุบัน

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวไว้เมื่อครั้งเดินตลาดเมืองโคราช ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งวันที่ 19 มี.ค.2562 บางช่วงบางตอนว่า

“ยอมรับว่าหนักใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งล่วงหน้าเพราะจะมีช่องทางให้เกิดการโกงเลือกตั้งในหลายขั้นตอนทำให้การเลือกตั้งใหญ่ น่ากังวลแล้วทำให้พรรคการเมืองต่างๆเสียคะแนนไปจำนวนมากซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนและประชาชนสามารถฟ้องได้

ดังนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมจะไม่เกิดความวุ่นวาย หรือมีทุจริตการเลือกตั้งเหล่านี้ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจทำให้การเลือกตั้ง เป็นโมฆะ เพราะมีทฤษฎีสมคบคิดโดยเฉพาะพวกที่แพ้เลือกตั้งแต่ยังอยากอยู่ในอำนาจต่อทั้งหมดเป็นความกังวลแต่ประชาชนต้องสู้

คุณหญิงสุดารัตน์เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่มีการทุจริตมากที่สุด มีการใช้อำนาจรัฐมากที่สุดอย่างโจ่งแจ้ง แต่ไม่สามารถจับได้แม้จะมีหลักฐาน ซึ่ง กกต.อ้างว่ายังต้องดำเนินการสอบสวนแต่บางเรื่องกับดำเนินการด้วยความรวดเร็ว

ท่อนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวถึงพรรคการเมือง ที่อาจแพ้การเลือกตั้ง  แต่ยังอยากอยู่ในอำนาจ ซึ่งหากมีพรรคการเมืองที่คิดเช่นนั้นจริงการดำเนินการบางอย่างโดยเฉพาะการร้องเรียนการเลือกตั้งในหลายๆกรณีย่อมต้องเกิดขึ้นและอาจนำไปสู่การเป็นโมฆะในที่สุดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ส่วนนักร้อง อีกคนหนึ่ง นายศรีสุวรรณ จรรยา ก็ออกมากล่าวถึงการเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง มาตรา 258 ประกอบ มาตรา 57 พรป.พรรคการเมือง โดยออกแถลงการณ์ เรื่อง “นโยบายแข่งกันแจกเงินของพรรคการเมืองส่อขัดรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ด้วยขณะนี้ปรากฏเป็นการทั่วไปในการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่ของนโยบายจะมีลักษณะการใช้เงิน การแจกเงิน อย่างมากมายเข้าข่ายเป็นนโยบายประชานิยม เช่น การขึ้นค่าแรง 400-425 บาท ปริญญาตรี 18,000-20,000 บาท เบี้ยเด็ก 1,200 บาท เบี้ยวัยรุ่น 2,000 บาท เบี้ยคนชรา 1,800 บาท ข้าวหอมตันละ 18,000 บาท ฯลฯ

ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายและการโฆษณาหาเสียงดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ม. 258 ก. (3) ประกอบ ม. 57 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ด้วย

กล่าวคือ นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (1) วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ (2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย และ (3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย เพื่อที่จะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตัดสินใจที่จะลงคะแนนให้กับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้”

แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง สส. ออกมา พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ลงชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม ม. 57 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เลยและอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.62 ประกอบ พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศล้มเหลวเหมือนดั่งประเทศเวเนซูเอล่าในขณะนี้ได้

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จำต้องนำความไปร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันจันทร์ที่ 18 มี.ค.62 เวลา 13.00 น. เพื่อขอให้สั่งพรรคการเมืองต่างๆ ดําเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่ กกต.กําหนดก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของ กกต.ให้มีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามมาตรา 121 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ต่อไป

“หาก กกต. ยังเพิกเฉยต่อการแจ้งและบังคับให้พรรคการเมืองต่างๆปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายข้างต้นแล้ว อาจทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งสมาคมฯอาจพิจารณานำไปสู่การฟ้องร้อง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้เป็น “โมฆะ” ต่อไป”

จึงพอรวมความได้ว่า ที่มาของการกล่าวถึงคำว่า โมฆะ ล้วนมีเข็มทิศชี้นำมาจากสถานการณ์ปัจจุบันหลายต่อหลายเหตุการณ๋ แต่นั่นขึ้นอยู่กับฝ่ายที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง ว่าจะเล่นบทนี้ด้วยหรือไม่ ส่วนจะเพราะเหตุผลอะไรนั้นก็คงต้องย้อนไปฟังที่คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวไว้ว่า ทฤษฎีสมคบคิดของบางคน ถึงพรรคจะแพ้ แต่ยังอยากอยู่ในอำนาจ นั่นเอง

ปุ่มรีเซ็ตไฟขึ้นแล้วพร้อมกดทันที ถ้าคุณต้องการ....

related