svasdssvasds

วิษณุ ยัน พร้อมแจงปมที่มา ส.ว. ไปศาลก็ไม่ขัด ปัดท้าทาย(คลิป)

วิษณุ ยัน พร้อมแจงปมที่มา ส.ว. ไปศาลก็ไม่ขัด ปัดท้าทาย(คลิป)

"วิษณุ" แจงเดดไลน์ พรรคการเมืองส่งแบบฟอร์มประวัติ คุณสมบัติต้องห้าม คืนสำนักเลขาธิการ ครม. ภายในวันนี้ หรือยืดหยุ่นสิ้นเดือนนี้ ส่วน ครม. ชุดเก่า รอพบนายกฯ หลังกลับประชุม G20 ชี้ ว่าที่ รมต. ถูกร้องหุ้นสื่อไม่กระทบตรวจคุณสมบัติเบื้องต้นรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์โดยยอมรับว่า ตนเองยังไม่ได้รับแบบฟอร์มตรวจคุณสมบัติต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี แต่ก่อนหน้านี้ได้ส่งไปให้กับพรรคร่วมรัฐบาลจริง ซึ่งในส่วนของพรรคต่างๆ มีกำหนดเดดไลน์ คือ วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ต้องกรอกให้เสร็จและส่งกลับมาให้เลขา ครม. ตรวจสอบ ว่าตรงกับที่มีการตรวจสอบไปก่อนหน้านี้หรือไม่ รวมถึง ส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เช่น หุ้นสื่อ หรือหุ้นสัมปทานผู้ขาดกับรัฐ เนื่องจาก ต้องให้เจ้าตัวยินยอม เซ็นต์เอกสาร ให้สามารถตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งใน 20 กว่าหน้า จะมีอยู่ 1 หน้าที่ต้องมีการยิมยอมจากคู่สมรสและบุตรเซ็นต์กำกับด้วยแต่บางคนอาจไม่แล้วเสร็จภายในวันนี้เพราะต้องมีข้อมูลของคู่สมรสและบุตรก็สามารถส่งตามมาได้ในวันเสาร์หรืออาทิตย์นี้

ส่วนกรณี รัฐมนตรีชุดเดิมก็ต้องกรอกเหมือนกัน ไม่เว้นนายกรัฐมนตรี แต่คนอื่น ตนเองไม่ทราบ แต่สำหรับตนเองนายกรัฐมนตรี บอกว่า จะกลับมาพูดคุย หลังกลับจากการประชุม G-20 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่วนตัวไม่กล้าตอบว่า จะกลับมารับตำแหน่งหรือไม่ เพราะขณะนี้ไม่ควรไปพูดอะไร

วิษณุ ยัน พร้อมแจงปมที่มา ส.ว. ไปศาลก็ไม่ขัด ปัดท้าทาย(คลิป)

 

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องกรอกเอกสาร ว่า ขอให้กรอกละเอียด ทั้งข้อมูลหุ้นต่างๆ ส่วนผู้ที่ถูกร้องเรื่องหุ้นสื่อฯ ที่ชัด ก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีแค่การเขียนไว้ในวัตถุประสงค์ ไม่ได้ทำสื่อจริง ขณะนี้เรื่องก็อยู่ในขั้นศาลวินิจฉัย ก็ไม่มีปัญหาในชั้นการตรวจคุณสมบัติ  พร้อมแนะนำว่าก่อนที่จะเป็นรัฐมนตรีก็ขอให้ขายไปให้พ้นตัว

ส่วนรัฐมนตรีต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. หรือไม่นั้น นายวิษณุบอกว่า เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะไปตกลงกัน รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ และไม่ใช่มารยาทการเมือง แต่ส่วนผู้ที่เป็น ส.ส. เขต จะกระทบกับงานสภาหรือไม่นั้น ย้ำว่า เป็นปัญหา ที่ต้องเลือกตั้งซ่อม แต่ไม่เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการเป็นรัฐมนตรี ซึ่งถ้ารัฐบาลไปบังคับลักษณะนี้ ถือว่าทำผิด

ส่วนกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ไม่รับญัตติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และทำให้ฝ่ายค้านเตรียมยื่น มาตรา 157 นั้น นายวิษณุ บอกว่า เป็นอำนาจของประธานสภาฯ ว่าจะรับหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องไปดูในรัฐธรรมนูญมาตรา 128 หรือ 129 ที่ระบุไว้ชัดว่า การที่ ส.ส. จะขอตั้งกรรมาธิการ ในการตรวจสอบเรื่องใด ต้องเป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น เพราะสภาฯ มีหน้าที่ในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน  แม้แต่การตรวจสอบ ข้าราชการ สภาก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่สามารถตรวจสอบรัฐบาล ในการบริหารราชการแผ่นดิน  แต่เชื่อว่า ประธานสภาฯ คงวินิจฉัยแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน แม้ คสช. จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ย้ำว่า คสช. ถูกแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ผู้บริหารราชการแผ่นดิน  ดังนั้นกระบวนการสรรหา ส.ว. จึงไม่ถือเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน และในสภาฯ ก็ไม่มีกลไกใดสามารถตรวจสอบ คสช.ได้ แต่ สตง. ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว

ทั้งนี้ตนเองยินดีชี้แจงฝ่ายค้านที่สงสัยและจะดูว่ามีเวทีใดที่จะให้ไปชี้แจงได้ซึ่งอาจจะตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่ตึกนารีโสมรสรก็อาจเป็นได้หรือแม้จะให้ไปศาลก็ยินดีแต่ไม่รู้ว่าเรื่องนี้กลไกจะไปถึงไหนย้ำว่าไม่ได้ท้าทายใครแต่ยินดีชี้แจง

related