svasdssvasds

อัยการจ่อคัดสำนวนกปปส. ศึกษาก่อนยื่นอุทธรณ์

อัยการจ่อคัดสำนวนกปปส. ศึกษาก่อนยื่นอุทธรณ์

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

จากกรณีที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีกบฎกปปส.สำนวนแรก โดยมีคำพิพากษายกฟ้อง “4 กปปส.” คือ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 57 ปี แกนนำ กปปส., นายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 42 ปี อดีต ส.ส.กทม.ร่วมชุมนุม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม., นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 68 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และสภาปฏิรูปการเมือง (สปช.) และ นายเสรี วงศ์มณฑา อายุ 70 ปี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด  โดยชี้หลักฐานโจทก์ นำสืบฟังได้แค่ว่าร่วมชุมนุม ไม่ใช่แกนนำสั่งการ ส่วนศาล รธน.เคยวินิจฉัยแล้วชุมนุม กปปส. ชุมนุมการเมืองแสดงออกตาม ม.63 คัดค้านก.ม.นิรโทษกรรม ไม่พอใจบริหารราชการแผ่นดิน

ซึ่ง ศาล พิเคราะห์พยานหลักฐานตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบแล้ว เห็นว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแม้ฟังข้อเท็จจริงได้ว่านายสนธิญาณ จำเลยที่ 1 , นายสกลธี จำเลยที่ 2 และ นายเสรี ที่ 4 เป็นแกนนำเคยพากลุ่มผู้ชุมนุมไปสถานที่ต่างๆ และมีเหตุการณ์นำโซ่คล้องประตู ล็อคกุญแจ ตัดไฟฟ้า ปิดล้อมยังสถานที่ต่างๆตามฟ้อง หรือขัดขวางเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

แต่กลับปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์อีกว่า จำเลยทั้งสี่ไม่เคยปราศรัยในลักษณะเป็นผู้สั่งการ หรือร่วมกับผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการใดๆ ที่เป็นความผิดอาญาตามฟ้อง การที่มีเหตุการณ์ใช้โซ่คล้องประตู ล็อคกุญแจ ตัดไฟฟ้า ปิดล้อมยังสถานที่ต่างๆตามฟ้อง หรือขัดขวางเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นการกระทำที่ถือเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มบุคคลที่กระทำการนั้นๆ โดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดนั้นด้วย

ประกอบกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 54/2556 , ที่ 58/2556 , ที่ 59/2556 และที่ 21/2557 ก็มีคำวินิจฉัยว่า การที่กลุ่มของนายสุเทพ และ กปปส. ออกมาชุมนุมคัดค้านเป็นการชุมนุมของประชาชนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน โดยมีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม , ความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล จึงเป็นการใช้สิทธิขอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 61 วรรคหนึ่ง และมาตรา 63 วรรคหนึ่ง ให้การรับรองไว้ การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จึงเป็นการประชุมทางการเมือง อันเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสี่ เช่นเดียวกับประชาชนที่มาเข้าร่วมกับการชุมนุมกับจำเลยทั้งสี่ ถือเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพของผู้ชุมนุมที่มีความเห็นตรงกันทางการเมือง ย่อมมีสิทธิที่จะมาร่วมชุมนุมกันได้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การชุมนุมเพื่อการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. จำเลยที่ 2 ซึ่งศาลยกฟ้อง กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่สนับสนุน ส่วนจำเลยทั้ง 4 คนก็รู้สึกดีใจเพราะเราต่อสู้คดีขึ้นศาลมาเกือบ 5 ปีและค่อนข้างลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันพอสมควร แต่ว่าสิ่งที่พวกเราทุกคนยึดถือเหมือนกันคือเคารพกระบวนการยุติธรรม โดยมาศาลทุกครั้งไม่เคยขาด เมื่อใครเดินทางไปต่างประเทศก็กลับมาตามกำหนดนัดทุกครั้ง คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลมองว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ในช่วงปี 2556-2557 เป็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยไว้ด้วยค่อนข้างชัดเจนแล้ว ประกอบกับการเดินทางไปชุมนุมตามในที่ต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมเองก็เป็นไปโดยสงบ อหิงสาและสันติ ไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลท่านมองเห็นและวินิจฉัยในวันนี้

ขณะที่ นายสุเทพ อดีตเลขาธิการ กปปส. จำเลยอีกสำนวน ซึ่งวันนี้เดินทางมาให้กำลังใจ กปปส. ชุดแรก ก็กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการ กปปส.ได้ร่วมกันต่อสู้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศนั้น ตนมีความรู้สึกกังวลในการต่อสู้คดีมาโดยตลอด เพราะว่าจำเลยทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องทำ บ้างก็เป็นอาจารย์หรือทำงานด้านสื่อมวลชน แต่ว่าทุกคนก็ต่อสู้คดีด้วยความเด็ดเดี่ยว ยืนหยัดที่จะนำความจริง ข้อเท็จจริงทั้งหลายมาพิสูจน์กันในศาลยุติธรรม

ท่ามกลางความเป็นห่วงของมวลมหาประชาชน กปปส.ทั้งหลาย ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ศาลพิพากษายกฟ้องคดี คิดว่าคงจะทำให้พี่น้องประชาชนที่รักชาติรักแผ่นดินมีความสุขใจขึ้น ได้เห็นว่าสิ่งที่ได้ทุ่มเททำงานเพื่อบ้านเมืองแม้จะต้องเหนื่อยยากลำบาก และได้รับผลกระทบจากที่ร่วมชุมนุมมานาน 4-5 ปีนั้น วันนี้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามระบบ และเป็นสิ่งที่พวกเราประชาชนคนไทยช่วยกันดูแลรักษากันต่อไป

เมื่อถามว่าคำพิพากษาจะเป็นแนวทางให้กับ กปปส.ชุดใหญ่ที่คดีอยู่ในกระบวนการศาลหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการต่อสู้คดีของ แกนนำ กปปส.ชุดใหญ่ เห็นว่าศาลชั้นต้นจะต่อสู้คดีในแนวทางไหน  ซึ่งศาลอาญาได้อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยไว้หลายครั้งหลายหนในปี 2556-2557  แต่ว่าหากการกระทำของผู้ชุมนุมใด เป็นความผิดกฎหมายอาญาอื่นก็ต้องรับผิดไป อย่างไรก็ตามหลังจากนี้เราจะได้นำคำพิพากษาฉบับเต็มมาศึกษาต่อไปด้วย

ด้าน นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กล่าวว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดี กปปส. ชุดแรกดังกล่าว คณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบการดำเนินคดี ของสำนักงานคดีพิเศษได้รายงานผลคดีให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษและนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ทราบแล้ว ขั้นตอนกฎหมายต่อจากนี้คณะทำงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี จะดำเนินการขอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มพร้อมถ้อยคำสำนวนศาล จากนั้นก็จะเสนอคำพิพากษาพร้อมสำนวนและความเห็นว่าควรอุทธรณ์หรือไม่ไปยังอธิบดีอัยการศาลสูงเพื่อพิจารณาต่อไป

โดยคดีนี้เป็นคดีสำคัญตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ดังนั้นอธิบดีอัยการศาลสูง จะเป็นผู้รับผิดชอบและกำกำกับดูแลการพิจารณา คดีในชั้นอุทธรณ์ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ขณะนี้ต้องถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุดตามกฎหมาย ดังนั้นส่วนของคดีการชุมนุม กปปส. ที่ยังอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ (ชุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำ กปปส. รวม 32 ราย) และผู้ต้องหาที่เหลืออีก 14 รายซึ่งร่วมชุมนุมกับ กปปส. ที่อัยการมีคำสั่งฟ้องแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งตัวฟ้องนั้นต้องถือเป็นเหตุลักษณะคดีกับคดีที่ยกฟ้องในครั้งนี้ซึ่งขณะนี้ถือว่าคำสั่งฟ้องและการดำเนินคดียังมีผลตามกฎหมายทุกประการ แต่เมื่อทั้งหมดเป็นเหตุลักษณะคดีดังกล่าวก็คงต้องรอผลการพิจารณาของอธิบดีอัยการศาลสูงและคณะทำงานของสำนักงานคดีพิเศษก่อน ผลคืบหน้าคณะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดจะได้แถลงให้ทราบต่อไป

related